ผู้พิการ ที่ลำพูน ปลื้มใจ ได้รับเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ตั้งใจนำไปซื้อของใช้จำเป็นประทังชีวิต ใช้หนี้ร้านค้าที่ให้ของมาใช้ก่อน
วันที่ 25 ก.ย. 2567 นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ในวันนี้ตนได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำกวงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และได้เข้าเยี่ยมผู้พิการและกลุ่มเปราะบางที่ประสบอุทกภัย จากเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำกวงหนุนสูงขึ้นเข้าท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชนจนไม่สามารถพักอาศัยได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้อพยพผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวมายังศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
“ซึ่งในขณะที่ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสิ่งของช่วยเหลือ ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้พิการรายหนึ่ง ที่ได้นำเอายอดเงินจำนวน 10,000 บาท ที่ได้รับโอนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลมาให้ตนได้ดู พร้อมกล่าวด้วยความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ตนมีสิทธิได้รับเงิน Digital Wallet ในครั้งนี้ โดยเงินจำนวนนี้มีมูลค่าทั้งทางกาย และทางจิตใจอย่างมาก เพราะเป็นการต่อชีวิตจากการนำเงินไปซื้อของใช้ สิ่งของอุปโภคบริโภค ผ้าห่ม นม มาประทังชีวิต และอีกส่วนหนึ่งจะได้นำไปใช้จ่ายหนี้ที่ติดค้างไว้กับร้านค้าในหมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปนำสินค้าจากร้านมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคก่อนล่วงหน้า และไม่มีเงินจ่ายค่าสินค้าให้เขา และสำหรับส่วนที่เหลือจากทั้งหมดนี้จะเก็บไว้ใช้จ่ายต่อในอนาคต” นายสันติธร กล่าว
นายสันติธร กล่าวต่อว่า ในวันนี้ถือเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ตนได้รับฟังจากพี่น้องประชาชนผู้พิการและผู้เปราะบาง ที่ต่างต้องการความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท เปรียบเสมือน “ประตูแห่งความหวัง” ให้แก่พี่น้องประชาชนได้มีที่พึ่ง มีทุนทรัพย์มาจุนเจือในการซื้อของกินของใช้ ตลอดจนจะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่พี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่จะได้ใช้เงินจำนวนนี้ดูแลความเป็นอยู่ของตนเองและคนรอบข้างท่ามกลางวิกฤติดังกล่าวอีกด้วย
นายสันติธร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยครอบคลุม 878 อำเภอ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ และจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนเป็นการวางรากฐานโครงสร้างรัฐบาลดิจิทัลซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัลในอนาคต
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนผู้พิการและกลุ่มเปราะบางท่านใดที่ยังไม่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเลท ตกสำรวจ หรือไม่สามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ หรือติดขัดปัญหาการรับเงินประการใด สามารถสอบถามยังช่องทาง ศูนย์บริการผ่านข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน เบอร์โทรศัพท์ 1111 กด 1 (ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ โทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือเข้าไปสอบถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ เพื่อขอรับคำแนะนำในการดำเนินการ
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ