สสจ.อุดรฯ แนะญาติ “ผิง ชญาดา” นักร้อง หมอลำสาวดาวรถแห่ เหยื่อท่านวดมรณะ “บิดหักคอ” จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก่อนสิ้นใจ แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ขอส่ง ศพชันสูตรหาปมตายให้แน่ชัด ระบุสาเหตุเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ไม่รู้ติดเชื้อจากไหน ชี้หากจะเอาผิดร้านนวดที่ไปใช้บริการ ต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์ตามกฎหมาย “สมศักดิ์” ยันแพทย์ ตรวจ MRI พบไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน เจาะ น้ำไขสันหลังไปเช็กได้ข้อสรุปเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ มั่นใจไม่กระทบนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

สะเทือนวงการนวดแผนไทย ทำคนขี้เมื่อยหวาดผวา กรณีผิง ชญาดา พร้าวหอม อายุ 20 ปี นักร้องลูกทุ่งหมอลำสาวดาวรถแห่ มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ไปนวดที่ร้าน “น้อง เพื่อสุขภาพ” ล็อก 42 ริมสวนสาธารณะหนองประจักษ์ เขตเทศบาลนครอุดรธานี เจ้าตัวระบุไว้ในโพสต์เพจเฟซบุ๊ก หมอนวดได้ใช้ท่าบิดคอหรือหักคอ ต่อมามีอาการแขนขาชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล ผลเอกซเรย์พบว่ากระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท กลายเป็นป่วยติดเตียง และอาการทรุดลงเรื่อยๆ หายใจลำบาก ญาตินำส่ง รพ.ศูนย์อุดรธานี กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในห้องไอซียู 10 วัน ก่อนเสียชีวิตลง เหตุเกิดช่วง 5 ต.ค.-8 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังข่าวแพร่กระจายออกไป เจ้าหน้าที่ สสจ.อุดรธานี ลงตรวจร้านนวดที่เกิดเหตุ พบมีหมอนวด 7 คน เจ้าของร้านยืนยันมีข้อห้ามนวดบิดคอ หักคอ ต้องถามความสมัครใจ ลูกค้า และจำไม่ได้ว่าลูกค้านวดกับหมอนวดคนไหน รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ธ.ค. ที่ห้องประชุมทองกราว สำนักงานสาธารณสุข จ.อุดรธานี นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นพ.สสจ.อุดรธานี นายคงจักร์ บุญทัน ผอ.ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ร่วมแถลงชี้แจง กรณี ผิง ชญาดา พร้าวหอม อายุ 20 ปี นักร้องลูกทุ่งหมอลำ รถแห่โอปอมิวสิคอุดรธานี สังกัดกีตาร์เรคคอร์ด ออกซิงเกิลของตัวเองมาแล้ว 5 เพลง ได้เสียชีวิตลงที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. หลังจาก 3 เดือนก่อนหน้านี้ได้ไปนวดแผนโบราณที่ร้านนวดแห่งหนึ่งริมหนองประจักษ์ศิลปาคม หมอนวดได้ใช้ท่า “บิดคอ” ทำให้มีอาการแขนขาชาแต่ยังไปนวดต่ออีก 2 ครั้ง ในที่สุดได้ป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นพ.สสจ.อุดรธานี เผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้นวดแผนไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีบางส่วนอยู่เหนือการควบคุมของหน่วยงานราชการ หลังทราบข่าวได้มอบให้ทีมงานไปเคารพศพ “ผิง ชญาดา” ที่บ้าน และได้พูดคุยให้กำลังใจญาติ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการรักษาเป็นอย่างไร ตรงกับที่สื่อมวลชนรายงานส่วนหนึ่ง รวมทั้งแนะนำการช่วยเหลือ อาทิ “กองทุนยุติธรรม” หลังจาก จนท.ลงพื้นที่พบครอบครัว “ผิง ชญาดา” ทราบว่า เมื่อ 5 ต.ค. ผู้ตายมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ไปนวดในร้านนวดในอุดรธานี อ้างว่าการนวดมีท่า “บิดคอ” หรือ “หักคอ” ด้วย หลังจากนวดแล้ว 2 วัน มีอาการปวดที่ท้ายทอย จนต้องกินยาระงับอาการปวด จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ได้กลับไปนวดอีกครั้งที่ร้านเดิมกับหมอนวดคนเดิม ต่อมามีอาการปวดมากขึ้น และกลับไปร้านนวดร้านเดิม แต่หมอนวดคนใหม่ เมื่ออาการไม่หายได้มาพบแพทย์ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี

นพ.สมชายโชติกล่าวว่า ต่อมาวันที่ 30 ต.ค. ผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ.พิบูลย์รักษ์ ในอาการเดียวกัน แพทย์เอกซเรย์แล้วส่งต่อ รพ.หนองหาน แพทย์ได้สั่งยาแล้วให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่กี่วันได้เดินทางมาที่ รพ.พิบูลย์รักษ์อีก และส่งต่อมายัง รพ.หนองหาน จากนั้นในช่วงวันที่ 6-11 พ.ย. รพ.หนองหาน ส่งต่อมายัง รพ.ศูนย์อุดรธานี ได้นอนรักษาตัวอยู่ที่ตึกกระดูกและข้อ แพทย์ตรวจพบแขนขาอ่อนแรง ไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักที่ต้นคอ ได้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมและเจาะหลัง พบว่าเป็นไขสันหลังอักเสบ รักษาด้วยยาฉีด จากนั้นให้ยากิน แล้วให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน และให้ไปรับยาที่ รพ.หนองหาน

“ด้วยความห่วงใยของญาติ ได้นำผู้ป่วยไป รพ.พิบูลย์รักษ์อีกครั้ง ก่อนถูกส่งตัวมารับยาต่อที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี กระทั่งวันที่ 18 พ.ย. ญาติปรึกษาเรื่องของอาการเกร็ง กระตุกของผู้ป่วย วันที่ 22 พ.ย. ผู้ป่วยถูกส่งเข้าห้องไอซียู นี่คือข้อมูลที่สามารถให้ได้ ส่วนบันทึกต่างๆรายงานทางการแพทย์ ถือว่าเป็นความลับของผู้ป่วย แพทย์พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่ญาติ ขอแสดงความเสียใจกับน้องที่ต้องจากไปด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต อีกทั้งการติดเชื้อรา การติดเชื้อในครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุชัดเจนว่าติดจากไหน อาจเป็นการติดช่วงที่มีอาการป่วยแล้วนอนติดเตียง จะตอบชัดเจนลงไปไม่ได้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ตอบ เพื่อเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของญาติที่จะร้องทุกข์ต่อไป” นพ.สสจ.อุดรธานีกล่าว

นพ.สมชายโชติกล่าวต่อว่า สสจ.อุดรธานี ร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ตรวจสอบเบื้องต้นในร้านที่ถูกระบุว่า น้องผิงไปรับบริการนวด พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง มีพนักงานนวด 7 คน สามารถแสดงใบรับการอบรมแบบการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมงได้ 6 คน อีก 1 คน ตรวจสอบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่าผ่านการอบรม 150 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน สำหรับการนวดแยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่าการนวดเพื่อสุขภาพ หรือนวดผ่อนคลาย สถานประกอบการที่เป็นข่าว ตั้งอยู่ริมหนองประจักษ์ศิลปาคม มี 14 ร้าน ตัวอาคาร เทศบาลนครอุดรธานีเป็นผู้ให้เช่า เป็นอาคารมาตรฐานตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขบอกไว้ เป็นการนวดเพื่อสุขภาพทั้งหมด ผู้นวดจะต้องผ่านการอบรม 150 ชั่วโมง ไม่มีการนวดแบบบิดคอ หรือบิดตัว เจ้าของผู้ประกอบการต้องกำกับดูแล

นพ.สสจ.อุดรธานีกล่าวอีกว่า ส่วนประเภทที่ 2 จะต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 372 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องของวิชาชีพ กำกับโดยแพทย์แผนไทย ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย มีสภาการแพทย์แผนไทยเป็นผู้กำกับมาตรฐาน เหมือนกับแพทย์ทั่วไปที่ต้องกำกับดูแลด้วยแพทยสภา ลักษณะเป็นการรักษามากกว่าการนวดเพื่อคลายเครียด ส่วนการนวดจริง เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ ตามกฎหมายกรณีพิสูจน์ทราบว่า เป็นเหตุเกี่ยวข้องกันหรือไม่ จะต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย ญาติพี่น้องได้ไปแจ้งความกับตำรวจแล้ว เป็นหน้าที่ของตำรวจดำเนินการ สาเหตุตามข้อสงสัยจะต้องพิสูจน์ทราบ นั่นก็คือการผ่าชันสูตรพลิกศพ ต้องขึ้นกับญาติจะดำเนินการต่อหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการ

นพ.สมชายโชติยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปกติการนวดทั่วไปแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ นวดแบบราชสำนัก ใช้อุ้งมือฝ่ามือทั่วไป เป็นหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง หลักสูตรไม่มีบิดคอ ดัดเอว การเรียนการสอนก็ไม่มี ในการนวดลักษณะที่ 2 คือนวดแบบเชลยศักดิ์ ใช้ทั้งศอกทั้งเข่าทั้งบิด หรือที่เราเรียกกันว่าหมอเอ็น คือนวดแบบสายเชลยศักดิ์ หรือการนวดเพื่อรักษา ส่วนตัวมีประสบการณ์เรื่องนี้ กรณีการใช้ผ้าขาวม้าดึงเอว ในฐานะหมอปฏิเสธไม่รับการรักษาแบบนี้ เพราะการรักษาต้องเชี่ยวชาญ มีใบประกอบวิชาชีพ ขณะผู้มาใช้บริการนวด เมื่อปกติเคยนวดแบบราชสำนัก แต่พอไปนวดแบบเชลยศักดิ์ จะรู้สึกว่านวดแบบราชสำนักไม่สะใจ ขอให้นวดแบบราชศักดิ์ นั่นคือผู้ถูกนวดเสนอตัวให้เขานวดแบบนั้น สาธารณสุขมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามรูปแบบที่เรากำหนด

นพ.สมชายโชติชี้แจงอีกว่า กรณีร้านนวดเพื่อสุขภาพนวดเกินจากอบรม จะไปลงโทษสั่งปิดทันทีไม่ได้ เพราะมีแนวทางปฏิบัติต้องพิสูจน์ทราบ ไม่ใช่สั่งปิดเพราะเป็นข่าว เมื่อวานไปตรวจไม่พบประเด็นดังกล่าว ส่วนที่เป็นข่าวนวดเกินเพื่อสุขภาพ เป็นหน้าที่ของญาติหรือเจ้าทุกข์ไปร้องทุกข์กับตำรวจ ส่วนกรณีสับสนระหว่างการนวดเพื่อสุขภาพ กับการนวดเพื่อรักษา สาธารณสุขได้ทำความเข้าใจกับผู้อบรม ไปแล้ว ผู้ประกอบการต้องเข้ามาช่วย หาวิธีประกันคุณภาพ ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดลงทะเบียนผู้มาใช้บริการและผู้ให้บริการ แต่ถ้าหากมีน่าจะดีในการประกันคุณภาพ ต่อไปการต่อใบอนุญาต ต้องให้ทบทวน เรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องสุ่มตรวจ ใน จ.อุดรธานี มีผู้ประกอบการราว 100 แห่ง ผู้ผ่านอบรมรวมหลายพันคน ทั้งอยู่ในอุดรฯ กระจายตามหัวเมืองหลัก หรือในต่างประเทศ ผู้ใช้บริการต้องรักษาสิทธิ์ของตนเองด้วย

“พนักงานนวดที่นวดให้กับผู้ป่วย 2 ครั้ง และใช้วิธีการนวดแบบบิดคอ ยังอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ทราบว่าพนักงานคนนั้นเป็นใคร ข้อมูลที่เราไปตรวจสอบ เขาตอบได้เท่าที่เขาตอบเราได้ อาจจะจดจำกันไม่ได้เพราะนานมาแล้ว หรือไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล คล้ายกับการเก็บข้อมูลไทม์ไลน์ของการพบผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากนี้การเคลื่อนของกระดูก ซี 1-4 ทำให้คนป่วยเสียชีวิตได้หรือไม่ ผู้ตอบได้ดีที่สุดคือแพทย์ด้านกระดูก ตนไม่ได้เป็นหมอกระดูก อีกทั้งไม่ได้ตรวจรักษามาระยะหนึ่งแล้ว อธิบายได้ง่ายๆว่า อะไรที่มันไม่ปกติมันก็มีผลทั้งนั้น การผิดรูปมีหลายรูปแบบ ผิดรูปตั้งแต่เกิด ถูกกระทบกระแทก การติดเชื้อ และมะเร็ง คงตอบไม่ได้ทั้งหมด ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญกระดูก อายุรกรรม หรืออื่นๆมาตอบคำถามนี้ น่าจะอธิบายได้ดีกว่า” นพ.สมชายโชติกล่าว

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการเสียชีวิตของ ผิง ชญาดา ว่า ได้รับรายงานอาการป่วยของผู้ป่วยรายนี้ ทราบว่าไม่มีโรคประจำตัวเดิม แต่วันที่ 5 ต.ค. เริ่มมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และได้ไปนวดร้านหนึ่ง ระบุว่ามีการนวดบิดคอ หลังจากนั้นเริ่มปวดท้ายทอย ชาแขน และกลับไปนวดร้านเดิมอีก 2 ครั้ง อาการเริ่มแย่ลง แขนอ่อนแรง ต่อมาวันที่ 28 ต.ค.ไปตรวจที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี ครั้งแรก มีอาการมือสั่นคล้ายโรคไทรอยด์ ส่งตรวจเลือดไม่พบโรคไทรอยด์ แพทย์ให้ยาแก้ใจสั่นกลับบ้าน และนัดอีก 1 เดือน จากนั้นวันที่ 6-11 พ.ย. เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี ได้แอดมิตแผนกกระดูกและข้อ แพทย์ตรวจพบว่าแขนขาอ่อนแรง ตรวจ MRI เพิ่ม พบไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน และได้ตรวจเจาะน้ำไขสันหลัง ได้ข้อสรุปวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ ได้ให้ยารักษา หลังจากนั้นอาการเริ่มดีขึ้น ให้กลับไปพักที่บ้าน

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ยังมีอาการเกร็งกระตุกตามร่างกาย วันที่ 22 พ.ย.อาการเกร็งและอ่อนแรงมากขึ้น ส่งตัวเข้าไอซียู รพ.ศูนย์อุดรธานี มีอาการช็อกจากติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. จากที่ถกเถียงกันมาระยะหนึ่งจากผลเอกซเรย์ในครั้งแรก เมื่อมีการตรวจ MRI ป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องยอมรับว่าไม่ได้เกี่ยวกับการนวด และผลออกมาว่าไม่มีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน และพบว่าเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ต้องรอผลการชันสูตรจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป เหตุที่เกิดขึ้นเชื่อมั่นว่าไม่กระทบต่อการส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ที่เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นซอฟต์พาวเวอร์หนึ่งของรัฐบาล