ที่เวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย เกษตรกรผวา “ควาย” ตายต่อเนื่อง 2 เดือนกว่า 200 ตัว ด้านปศุสัตว์ฯ ตรวจสอบ พบเกิดจากการขาดอาหาร ไม่ใช่โรคระบาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.เชียงราย เกิดกรณีควายที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ ในพื้นที่ “เวียงหนองหล่ม” ล้มตายไปกว่า 245 ตัว ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย.67 จนชาวบ้านหวั่นเกิดจากโรคระบาดสัตว์ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งต่อมา นายสัตวแพทย์พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์ จ.เชียงราย ได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณ ทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำสาธารณะครอบคลุมเขตติดต่อ ต.จันจว้า ต.จันจว้าใต้ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 

โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง ได้ตรวจตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ไม่พบโรคระบาดที่ชัดเจน พบเพียงภาวะเลือดจาง ตับวาย มีพยาธิในกระเพาะอาหาร ฯลฯ จึงสันนิษฐานว่าเกิดจากการขาดแคลนอาหารและแมลง เพราะเกิดภาวะภัยแล้งต่อด้วยน้ำท่วม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดตามปางควายต่างๆ เจาะเลือดตัวอย่างควายไปตรวจ ฯลฯ

นายสายฝน ชุ่มมงคล ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงควายเวียงหนองหล่ม เล่าว่า ควายเริ่มมีอาการมาตั้งแต่น้ำท่วมครั้งแรก จากน้ำที่ท่วมทั้งหมด 3 ครั้ง อาการที่พบเห็นคือ คอกระด้างและปากเปื่อยเท้าเปื่อย ไปแจ้งทางปศุสัตว์จังหวัดแล้ว เขามอบหมายให้ปศุสัตว์อำเภอมาดูแล แม้ปศุสัตว์จะบอกไม่ได้เกิดจากโรคระบาด ตนเชื่อว่าสาเหตุมีหลายอย่าง ตั้งแต่มีการขุดลอกเวียงหนองหล่มจนสถานที่เลี้ยงสัตว์หาย จนทำให้อาหารไม่พอ น้ำก็ท่วม จะให้ชาวบ้านหาฟางมาควายกินก็คงไม่ไหว ค่าใช้จ่ายต่อวันเป็นพันบาท คอกของตนจากที่เคยมี 80 กว่าลดเหลือ 40 กว่าตัว รวมทั้ง 3 ปาง ตอนนี้ควายตายไปแล้ว 245 ตัว ทุกวันนี้ก็ยังทยอยตายอยู่เรื่อยๆวันละ 3-4 ตัว

ด้าน น.ส.สุวิชชา ปัญจขันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงสาเหตุการตายของควายในปางควายทั้ง 3 แห่ง ว่า เท่าที่ได้มีการเก็บตัวอย่างจากฟาร์มของเกษตรกร ผลการตรวจพิสูจน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบนจังหวัดลำปาง พบว่าควายมีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงและตับวาย ตรวจพบมีพยาธิในกระเพาะอาหาร สันนิษฐานว่าตั้งแต่ปางควายประสบปัญหาภัยแล้งจนถึงน้ำท่วม ควายมีอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ควายขาดสารอาหารจนร่างกายอ่อนแอ ประกอบกับฤดูฝนมีแมลงเยอะจนเกิดพยาธิในเลือดด้วย แต่สาเหตุหลักน่าจะเกิดจากการขาดอาหารเป็นหลัก เมื่อควายมีร่างกายอ่อนแอ เกิดความเครียดบวกกับอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น 

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้นั้น นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย บอกว่า จากการประชุมร่วมกันกับชาวบ้านผู้เลี้ยงสัตว์ได้ข้อสรุปว่า จะหาแนวทางร่วมกันโดยเบื้องต้นจะหาผู้ประสานงานในแต่ละปางเพื่อมาเข้ารับการอบรมให้ความรู้การเลี้ยงควายแบบปราณีต ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารสัตว์และการดูแลสุขภาพสัตว์ วางโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี โปรแกรมวัคซีน โปรแกรมการกำจัดพยาธิ จริงๆอยากแนะนำให้ทางปางกักสัตว์ที่เป็นโรคไว้เหมือนกัน เวลาปล่อยลงสู่หนองน้ำทำให้พยาธิในทางเดินอาหารระบาดเพิ่ม อยากให้เลี้ยงแบบปราณีตมากขึ้น เช่นปลูกพืชอาหารสัตว์เสริมด้วยอาหารแห้งเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดโรค อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังยืนว่าควายที่ตายไม่ได้เกิดจากโรคระบาดสัตว์ 

ด้าน นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ วานนี้ (14 พ.ย.) ว่า หลังได้รับรายงานจากทางปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ตนลงพื้นที่มารับฟังปัญหาของประชาชน จึงได้มาพร้อมกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ เบื้องต้นทราบว่าควายที่ตายเป็นเพราะพยาธิและขาดอาหาร จริงๆชาวบ้านอยากได้อาหารสัตว์ เนื่องจากมีการขุดลอกเวียงหนองหล่มจนแหล่งอาหารลดลง การป้องกันและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ปูพรมทำวัคซีนและฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ ควายที่ตายก็ให้นำไปผ่าพิสูจน์ซากจะได้ยืนยันได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร โดยการแก้ไขปัญหาวันนี้ จะดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนั้น ยังได้นำหญ้าแห้งพันธุ์ดีมามอบให้เกษตรกรด้วย อยากแนะนำเกษตรกรว่าหากพบสัตว์เลี้ยงของตนเองป่วยหรือล้มตาย ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ เพื่อสัตวแพทย์จะได้เข้ามาตรวจและคัดแยกออกมาจากฝูง