อีกเพียงชั่วข้ามคืนปีพุทธศักราช 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมกับการก้าวสู่ศักราชใหม่ 2568 ซึ่งปีนี้ตรงกับปี “มะเส็ง” หรือ “งูเล็ก”
ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเจอเหตุการณ์หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะภัยพิบัติจากธรรมชาติ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งสถานศึกษาต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
หากเจาะลึกงานการศึกษาไทยในรอบปี 2567 ซึ่งถือเป็นปีที่ 2 และเป็นสมัยที่ 2 ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญ วรกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้เข้ามานั่งบริหารงานการศึกษาชาติ ทั้งในรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยประกาศผลักดัน นโยบายสำคัญๆในหลายเรื่อง ยึดแนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มุ่งเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีเรื่องใดบ้างที่ทำได้จริง และเรื่องใดที่ยังติดๆขัดๆ “ทีมการศึกษา” ขอทำหน้าที่สะท้อนภาพให้เห็นกันชัดๆ
เริ่มจาก นโยบายที่ขับเคลื่อนและเห็นผลชัดเจน เพื่อช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา อาทิ การยกเลิกการอยู่เวรรักษาการณ์ของครูที่สถานศึกษา ถือเป็นนโยบายที่ได้รับเสียงตอบรับจากครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากการลดภาระงานสอนแล้ว ยังลดความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยให้กับครูได้อีกทางหนึ่งด้วย ถัดมาเป็น การจัดหานักการภารโรงให้กับสถานศึกษา การปรับวิธีการประเมินวิทยะฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะเดินหน้ากันไปแล้วแต่ดูเหมือนจะไม่ถูกอกถูกใจครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วน เนื่องจากถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
ส่วนเรื่องที่เสมา 1 มองว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงส่งท้ายปี 2567 นั่นก็คือ การเตรียมเปิดใช้ระบบจับครูย้ายครู หรือ Teacher Rotation System (TRS) แม้มีกำหนดเปิดระบบในวันครู 16 ม.ค.2568 แต่เสนาบดีวังจันทรเกษมก็ออกมาประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่าระบบดังกล่าวจะปิดช่องทางการทุจริตและการเรียกรับเงินได้ โดยเฉพาะประเด็นการตกเบ็ดหลอกเรียกรับเงินวิ่งเต้นในการย้ายครู
สำหรับนโยบายที่เชื่อว่าจะช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองที่เห็นชัด อาทิ การจัดสรรงบอาหารกลางวันให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับนักเรียนด้อยโอกาสได้เป็นอย่างมาก การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) การยกเว้น/ผ่อนผัน แต่งเครื่องแบบนักเรียน การจัดศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ผลักดัน “สุขาดี มีความสุข” เป็นต้น
แม้ว่านโยบายต่างๆที่กล่าวมานี้ ศธ.จะมองว่าได้ผลักดันจนประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่หากมองในภาพรวมยังไม่มีตัวชี้วัดใด ที่สามารถยืนยันได้ว่านโยบายต่างๆ ที่กล่าวมานี้ช่วยยกระดับคุณภาพของผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด
ขณะที่ นโยบายที่ประกาศไปแล้วแต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง อาทิ การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา การเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต (Coaching) การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพ การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ เป็นต้น
“แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่ ศธ.ยังไม่สามารถผลักดันให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้ ดังนั้นในปี 2568 จะมีการสานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรม ต่างๆ เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนให้เกิดความเท่าเทียม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษา รวมถึงเดินหน้าความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และภาคเอกชน เพื่อผลักดันโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา Partner ship School Project” ซึ่งเมื่อมาบวกกับโครงการคอนเน็กซ์อีดีที่เป็นฐานสำคัญที่ ศธ.ได้จับมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนา การศึกษากันอยู่ก่อนแล้วจะทำให้เรื่องนี้เห็นผลเป็นรูปธรรมในปีหน้า
…ต่อไปเด็กทุกคนจะต้องรู้อนาคตของตัวเอง เข้ามาเรียนจบออกไปแล้วจะเป็นอะไร จบแล้วจะต้องมีตำแหน่งงานรองรับ ศธ.จะจับมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพูดคุยและวางแผนการผลิตคนให้ตรงกับงาน ซึ่งสิ่งที่ ศธ.วางแผนดำเนินการนี้จะสอดรับนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ที่ต้องการผลักดันโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ รวมถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) ให้เกิดขึ้นในปี 2568 ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ศธ.จะสานต่อ และเชื่อมั่นว่าในอนาคตครูและบุคลากรทางการศึกษารุ่นใหม่ จะก่อหนี้ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมเป็นศูนย์แน่นอน ส่วนการเจรจาสถาบันการเงินเพื่อปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็ยังคงต้องพูดคุยต่อไปเพื่อลดภาระให้ครูมากที่สุด สำหรับการยกระดับคะแนนการสอบการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งในปี 2568 จะมีการทดสอบนั้น ศธ.เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าคะแนนของนักเรียนไทยจะสูงขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา 5–10% แน่นอน” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยืนยันที่จะสานต่อนโยบายเก่าในปี 2568 และพร้อมผลักดันนโยบายใหม่ๆ ที่สอดรับนโยบายของรัฐบาล
ขณะที่ นายสุรศักดิ์ ยืนยันว่า “ในปี 2567 นโยบาย ศธ.หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จแล้ว และช่วยลดภาระให้กับครู และนักเรียนได้จริง ส่วนเรื่องที่ต้องผลักดันในปี 2568 คือ การนำเทคโนโลยี และ AI เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ การเดินหน้าโครงการ Learn to Earn การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักเรียน จบแล้วมีงานทำ ขณะเดียวกัน ศธ.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหา Zero Dropout โดยตั้งเป้าปี 2568 เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจะต้องเป็นศูนย์”
“ทีมการศึกษา” มองว่าในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา นับว่าเสมา 1 กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาในหลายเรื่องที่หมักหมมกันมานานให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ก็ยังมีปัญหาที่รอการสะสางอีกหลายเรื่องที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนโดยตรง และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญ คือ การประกาศ “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” กลางสภาผู้แทนราษฎร ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ในระหว่างการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ถือเป็นคำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน
ปี “งูจู่โจม” จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า คำประกาศจะเป็นเพียงแค่ลมปาก หรือฝันเป็นจริง…!!!
ทีมการศึกษา
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ