โฆษก ปปง. แจงข้อเท็จจริงยึดและอายัดทรัพย์สิน 18 บอสดิไอคอนฯ พ่วงคนใกล้ชิด แย้ม ที่ดินใน จ.เชียงใหม่ของ “บอสกันต์” อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ย้ำเข้มพิสูจน์ความสุจริตของผู้รับโอนเงินไม่เว้นแม้แต่วัด ด้าน DSI อยู่ระหว่างตรวจเอกสารแจ้งข้อกล่าวหา แชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.ขายตรงฯ หากทัน 8 พ.ย.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 พ.ย. 67 ที่ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีการดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก
โดย นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกสำนักงาน ปปง. เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในส่วนของ ปปง. นั้น ได้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ไปแล้ว จำนวนรวม 320 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพวกบัญชีเงินฝาก ที่เก็บเงินจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาเป็นการยึดและอายัดทรัพย์โดยอำนาจของเลขาธิการ ปปง. ที่เชื่อว่ามีเหตุในการจะถูกยักย้ายถ่ายเท อาทิ การจะทำธุรกรรมถอนเงิน แต่ถ้าการยึดและอายัดทรัพย์ตามปกติ จำเป็นที่จะต้องมีการรอสำนวนการสอบสวนทางคดีอาญาก่อน คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเป็นลำดับ
ทั้งนี้ ตอนนี้ ปปง. จึงอยู่ระหว่างการประสานงานกับดีเอสไอ ต่อเนื่อง เพราะการทำงานของ ปปง. ต้องคู่ขนานไปกับสำนวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน เพื่อเกิดความรอบคอบและนำไปต่อยอด โดยเฉพาะเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ปปง. จึงต้องดูจากสำนวนเป็นหลักด้วย เนื่องจากใช้เป็นฐานในการดำเนินการตามกฎหมายของ ปปง.
เมื่อถามว่านอกเหนือจากผู้ต้องหา 18 ราย หากมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นด้วย ปปง. จะสามารถดำเนินการอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบชั่วคราวได้หรือไม่ แม้ในกรณีนั้นยังไม่มีการออกหมายจับ นายวิทยา อธิบายว่า ตามกฎหมายฟอกเงิน เราติดตามยึดตัวทรัพย์สิน หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด แม้ว่าคนที่รับโอน หรือครอบครอง ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดในคดี เราก็ตามไปอายัดได้ เพียงแต่ว่าการรับโอนของเขามันสุจริตหรือไม่ หากสุจริต มีการเสียค่าตอบแทนก็อาจจะได้รับการคุ้มครอง แต่ถ้าเขารู้ว่ามันคือทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ปปง. พร้อมย้ำว่า ปปง. มีการเฝ้าระวังการยักย้ายถ่ายเท แปลงสภาพของทรัพย์สินในคดีดิไอคอนฯ มาตั้งแต่แรก หากมีเหตุน่าเชื่อ เลขาธิการ ปปง. ก็จะใช้อำนาจยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว
เมื่อถามว่า ปปง. พบกระแสเงินในคดีดิไอคอนฯ ไหลออกนอกราชอาณาจักรบ้างหรือไม่ หรือไปถูกเปลี่ยนให้อยู่ในสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี นายวิทยา ระบุว่า ขอเรียนว่ายังไม่มีข้อยุติในส่วนนี้ เพราะเรื่องมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 61-63 แต่ตอนนี้ปี 67 การทำธุรกรรมทางการเงินถือเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ ปปง. จะใช้อำนาจ ก็ต้องมีพื้นฐานในคดีอาญาให้มันชัดเจนด้วย และกระบวนการในการตรวจสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ก็ยิ่งต้องใช้หลักฐานเยอะ เพราะบางครั้งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มาร่วมกระทำความผิด แต่เราต้องมีความชัดเจนว่าทรัพย์สินดังกล่าวมันตั้งต้นมาจากเรื่องนี้
เมื่อถามว่า ปปง. จะติดตามยึดและอายัดทรัพย์สินได้เทียบเท่ากับมูลค่าความเสียหายหรือไม่ เพราะ ปปง. ยึดไปแล้ว 320 ล้านบาท แต่มวลรวมความเสียหายในปัจจุบันมีกว่าพันล้านบาทนั้น นายวิทยา แจงว่า ทรัพย์สินในคดีที่มีการยึดและอายัด นอกจาก ปปง. แล้วก็ยังมีตำรวจและดีเอสไอที่ได้ไปยึดพวกอสังหาริมทรัพย์ไว้ และท้ายสุดก็ต้องถูกส่งมาที่ ปปง. ย้ำว่าพยายามทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ไม่อยากบอกว่าจะได้ครบหรือไม่ เพราะเวลามันทิ้งช่วงมาหลายปี ทรัพย์มีการจำหน่าย จ่าย โอน และมันมีความยากในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของ ปปง. เนื่องจากบางรายจ่ายเงิน 250,000 บาท ได้สินค้าไปเท่าไร หรือมีการขายจริงแล้วได้เงิน หรือนำไปบริจาค หรือนำไปให้สุนัขกิน จะคิดค่าเสียหายกันอย่างไร จึงพยายามเคลียร์เรื่องทรัพย์สินให้นิ่งก่อน แล้วจึงจะขยับมาเรื่องคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายตามลำดับ
ทั้งนี้ การประกาศคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย จะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากที่ดีเอสไอสรุปสำนวนสั่งฟ้องต่ออัยการเท่านั้น เพราะกฎหมายของ ปปง. คือยึดทรัพย์ก่อนแล้วนำมาคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ดังนั้น การคุ้มครองสิทธิฯ จึงต้องอาศัยหลักฐานในคดีอาญาของพนักงานสอบสวนว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นปีไหน แล้วใครมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งจะอยู่ในข่ายที่ ปปง. จะต้องเข้าไปดู สรุปคือ การทำเรื่องทรัพย์สินของ ปปง. ต้องชัดเจน ไม่ใช่ไปฟอกขาวให้เขา แต่เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายด้วย
ต่อข้อถามเรื่องเงินทำบุญ หรือเส้นทางเงินที่อ้างว่าเป็นเงินโอนสำหรับทำบุญ ปปง. มีหลักการตรวจสอบหรือพิสูจน์อย่างไรบ้าง นายวิทยา อธิบายว่า เงินทำบุญนั้น วัดที่รับทำบุญสามารถต่อสู้เรื่องของความสุจริตตามธรรมจรรยา กล่าวคือ ตอนที่วัดรับโอนเงิน วัดรู้หรือไม่ว่าเงินนั้นเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ถ้าไม่รู้คือจบ และตามศีลธรรมจรรยาปกติแล้ววัดรับบริจาคลักษณะแบบนี้ใช่หรือไม่ ทั้งหลักสิบบาท หลักร้อยบาท ล้านสิบล้านบาท หลักร้อยล้านบาท เคยรับไหม ต้องดูประกอบหลาย ๆ อย่าง ส่วนถ้าเงินโอนเข้าแล้วอ้างว่าเป็นเงินทำบุญ แต่เงินกลับถูกโอนออกไปอีกบัญชีทันทีนั้น อันนี้ก็ต้องไปดูข้อเท็จจริง แล้วแต่องค์ประกอบ ก็ต้องดูความสุจริตว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อนหรือไม่ รวมทั้งใบอนุโมทนาบุญก็ต้องดูประกอบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เราต้องดูลึกมากกว่านั้นเพื่อพิสูจน์ความสุจริตของเขา
เมื่อถามถึงกรณีที่ดินของนายกันต์ กันตถาวร หรือ บอสกันต์ ดาราชายชื่อดัง ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับวัดคีรีเขต (วัดทุ่งโป่ง) ทอดยาวไปถึงลำน้ำแม่ท่าช้าง ต.บ้านปง อ.หางดง มีทั้งหมด 7 ไร่ 70 ตารางวา ได้อยู่ในรายการทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรมที่จะต้องตรวจสอบหรือไม่นั้น นายวิทยา เผยว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เรื่องที่ดินเราไม่ค่อยห่วง แต่เพื่อความรอบคอบ ก็ต้องมีชัดเจนเพียงพอว่ามันเป็นทรัพย์ที่เขาได้มาครอบครองในช่วงเวลาใด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย
ต่อข้อถามว่าสังคมสนใจห้วงไทม์ไลน์ ปี 62-64 ที่ธุรกิจดิไอคอนฯ ได้รับความนิยม มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่ารายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เหล่า 18 บอสได้มาครอบครองนั้น จะเป็นการได้มาด้วยเงินที่มาจากการทำธุรกิจดิไอคอนฯ นายวิทยา แจงว่า ปปง. มีความจำเป็นที่จะต้องรอดูสำนวนของพนักงานสอบสวน หรือคดีอาญาก่อน ว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดได้ถูกขีดเส้นตั้งแต่ช่วงใด เพื่อให้เป็นขอบเขตในการดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินด้วย จึงต้องขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานสักระยะ
นอกจากนี้ นายวิทยา เผยด้วยว่า สำหรับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม ได้มีการประชุมในทุกเดือน แต่เราก็ไม่อยากไปกำหนดเวลาการทำงานของพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนต้องมีความรอบคอบในการทำ ถ้าทัน ก็สามารถเสนอได้ อีกทั้งก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงด้วย แต่ยืนยันว่าจะทำให้เร็วเพราะมีผู้เสียหายจำนวนมากที่ยังรอความหวัง
ขณะที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะเข้าไปแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา ส่วนจะทันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 8 พ.ย.) หรือไม่ อยู่ระหว่างตรวจเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา หากพรุ่งนี้ทันก็จะดำเนินการในวันพรุ่งนี้เลย และจะต้องนัดพร้อมทนายความของผู้ต้องหาให้เรียบร้อยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ตนยังไม่ได้รับการยืนยันจากพนักงานสอบสวน แต่ให้ความมั่นใจว่าในเร็ว ๆ นี้ ส่วนกรณีผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ตนต้องย้ำว่าตอนนี้เราเร่งดำเนินการกับกลุ่มแรกก่อน เพราะมันมีระยะเวลาควบคุม เพราะในฐานความผิดแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งไว้ คือ ฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ สามารถฝากขังได้ 48 วัน แต่เมื่อดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ จะขยายเวลาควบคุมได้ถึง 84 วัน แต่หลักฐานเอกสารในสำนวนปัจจุบันนี้มีกว่า 200,000 แผ่น พนักงานสอบสวนจึงต้องเรียบเรียงและรวบรวมเพื่อจะสรุปสำนวนคดีให้ทัน ทั้งนี้ ในกรณีผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ที่ดีเอสไอจะต้องขยายผลต่อนั้น มันก็จะยังอยู่ในระยะเวลา ย้ำว่าจะเร่งทำให้รวดเร็ว
ส่วนกรณีที่ทนายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของบอสพอล แจ้งว่าหากดีเอสไอไม่ทำการสอบปากคำพยานของบริษัท ดิไอคอนฯ ให้ครบ 2,000 ปาก หรือพยายามจะตัดจำนวนพยานนั้น จะมีการขอความเป็นธรรม และอาจถึงขั้นดำเนินคดี ม.157 ต่อพนักงานสอบสวนนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แจงว่า ตนได้แจ้งให้ทางทนายความไปจัดทำบัญชีรายชื่อพยาน ระบุความเกี่ยวข้อง และประเด็นที่ทั้ง 2,000 รายประสงค์ให้ข้อมูล ซึ่งก็ต้องมาดูว่าเป็นประเด็นเดียวกัน ซ้ำกันหรือไม่ พร้อมย้ำว่าทุกอย่างเป็นอำนาจและดุลพินิจของพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนได้รับฟังประเด็นและการชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องให้พนักงานสอบสวนได้พิจารณาเท่าที่จำเป็น.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ