ร.ศ.ทองสุก เกตุโรจน์ ออกตัวไว้ในคำนำ “ศัพทานุกรมวรรณคดี สันสกฤต” (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.2559) เรื่องราวที่ปรากฏในคำศัพท์เหล่านี้ บางส่วนอาจจะแตกต่างจากความรับรู้ ที่มีมาแต่เดิม

เมื่อได้อ่านเรื่อง “สีตา” จากรามายณะ ของอินเดีย หรือ นางสีดา จากรามเกียรติ์ของไทย ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจจนเกินไป แม้จะเศร้าลึกๆ ที่รู้ว่าในบรรดา “ชายา” หรือนางเอกในเรื่องทั้งหลาย สีตารับบทหนักเหลือเกิน

พื้นความรู้จากคัมภีร์สันสกฤต สีตา มีหลายฉายา อโยนิชา แปลว่า มิได้เกิดจากครรภ์ และ ภูมิชา ธรณีสุดา ปรรถิวี สามฉายานี้ แปลเหมือนกัน ธิดาของโลก อีกชื่อ เวทาวดี ชื่อนี้เป็นชื่อที่นางเกิดในกฤตยุค

ว่ากันว่าสีตาเป็นพระลักษมีในรูปของมนุษย์มากำเนิดในโลกเพื่อนำหายนะมาสู่ทศกัณฐ์ กษัตริย์รากษสแห่งลงกาซึ่งไม่มีใครปราบได้ด้วยวิธีการปกติ และเป็นคราวเคราะห์ที่ต้องตายด้วยสตรี

สีตา แปลว่า รอยไถ หมายถึงการทำนาที่สมมติให้เป็นบุคคล ที่ได้รับการเคารพสักการะดั่งเทพธิดา

ในรามายณะ และวรรณกรรมชั้นหลังๆ สีตาเป็นธิดาของท้าวชนกกษัตริย์วิเทหะ และเป็นมเหสีของพระราม

ในรามายณะ ท้าวชนก บิดาของสีตา กล่าวว่า “เมื่อเรากำลังไถนาอยู่ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากรอยไถ เราได้นางมาในขณะที่เรากำลังทำให้นาสะอาด

เราจึงให้ชื่อนางว่า สีตา เพราะเด็กคนนี้เกิดขึ้นมาจากพื้นดิน เราเลี้ยงดูเธอเหมือนธิดาของเรา”

หลังพระรามมีชัยชนะได้นางมาด้วยการโก่งคันศร อันมีชื่อเสียงของพระศิวะ นางเป็นมเหสีองค์เดียวของพระราม เป็นแม่แบบของความบริสุทธิ์ ความอ่อนโยน และความรักในชีวิตสมรส

เมื่อพระรามถูกเนรเทศนางก็ตามเสด็จไปด้วย แต่ถูกทศกัณฐ์ลักพาไปกักขังในวังที่กรุงลงกา

ทศกัณฐ์ใช้ความพยายามวิงวอนให้นางรับรัก แต่นางยืนกรานไม่ยอมฟัง ไม่ว่าจะเป็นคำอ้อนวอนหรือคำขู่เข็ญ และยังคงซื่อสัตย์ต่อพระรามตลอดเวลา

เมื่อพระรามสังหารทศกัณฐ์และช่วยนางมาได้ เรื่องพลิกความคาดหมาย พระรามกลับปฏิบัติต่อสีตาอย่างเย็นชา ไม่ยอมรับนางเป็นชายาเหมือนเดิม เพราะไม่เชื่อว่าสีตายังจะรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้

มิใยที่สีตา จะยืนยันความบริสุทธิ์ ด้วยคำกล่าวที่คนอื่นฟังแล้วซาบซึ้งเพียงใด พระรามก็ยังไม่ไยดี

ถึงขั้นนี้ สีตาตัดสินใจพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ด้วยการลุยไฟ

ต่อหน้าพระราม เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย กองไฟใหญ่ได้ถูกก่อขึ้น สีตาเดินลุยไฟโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ พระอัคนีอุ้มสีตาขึ้นมา นำส่งให้พระราม

บทพิสูจน์เปิดเผยโปร่งใส ต่อหน้าเทวดาฟ้าดิน คัมภีร์รามายณะ กล่าวว่าความหึงหวงในใจพระรามก็ยังไม่คลาย แม้พระรามขึ้นครองบัลลังก์อโยธยา กระแสประชาชนที่เชื่อว่าสีตามีมลทินก็ยังซ้ำเติม

เรื่องยิ่งร้าย สีตาทรงครรภ์ พระรามก็ผลักไสพระนางไปอยู่ป่า ในอาศรมฤษีวาลมีกิ สีตาได้โอรสแฝด พระกุศะ พระลวะ เลี้ยงดูจนชันษา 15 สองพระองค์เดินทางเข้าเมืองหลวง พระรามยอมรับเป็นพระโอรส

เวลาเนิ่นนานผ่านมาถึงขั้นนี้ พระรามเพิ่งสำนึกได้ เชิญสีตากลับมาเป็นชายา แต่สายเกินไปสีตาเจ็บช้ำน้ำใจมาก นางเรียกร้องให้โลกมารดา (คือแผ่นดิน) ยืนยันความบริสุทธิ์ของนาง…อีกครั้ง

เกิดเหตุอัศจรรย์แผ่นดินเปิดกว้าง รับเอาสีตากลับสู่รอยไถคืนไปแหล่งกำเนิดเดิม

แล้วรามายณะฉบับนี้ ก็จบลง ตรงพระรามที่เพิ่งสำนึกเสียใจ กระโดดน้ำตายตาม

เรื่องราวของสีตา ทำให้คิดถึงผู้หญิงอีกหลายๆคน บางบ้านเมืองใกล้ๆ ขณะนักร้องกองแช่งลุ้นให้เธอล้มคว่ำเร็ววัน แต่ก็ยังมีกองเชียร์ไม่น้อยลุ้นเอาใจช่วย

จะว่าไป ข้อดีเธอคนนี้ก็ยังมีแยะ ความรู้ความสามารถไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าหากเป็นความสวยความหรูไม่เป็นรองหญิงใดในปฐพี.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม