วันนี้ (อาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2567) เป็นวันสุดท้ายของงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29” ณ ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์แล้วนะครับ เหลือเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม หรืออีกเพียง 11 ชั่วโมง เท่านั้น สำหรับการช็อปปิ้งหนังสือราคาพิเศษ ในบรรยากาศพิเศษๆ ในงานมหกรรมปีนี้

สำหรับหัวหน้าทีมซอกแซกเองพอเขียนโหมโรงล่วงหน้าให้แล้ว ปีนี้ก็ต้องเตรียมตัวทำการบ้านทยอยเขียนต้นฉบับแห้งๆ ส่งไปเรียงล่วงหน้าไว้ เพราะมีแผนจะเดินทางไปท่องโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น กับลูกๆหลานๆ ดังที่เกริ่นไว้แล้ว…ทำให้ชวดโอกาสที่จะไปเดินงานหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปอย่างน้อย 2 ครั้ง ในแต่ละงานด้วยตนเอง

เดินแล้วก็กลับมาเขียน “ซอกแซก” ให้ในคอลัมน์นี้ ท่านที่ติดตามอ่านเป็นประจำคงจะจำได้

แต่ก็ไม่เป็นไรครับ แม้ไม่มีโอกาสได้เขียนถึงภาพรวมของงานหนังสือทั้งหมด…ทว่าหัวหน้าทีมได้มีโอกาสโทรศัพท์คุยกับยอดนักแปล “ยุทธจักรนิยาย” หรือนิยายกำลังภายในท่านหนึ่งที่เรื่องแปลล่าสุดได้ออกมาจำหน่ายเป็นปฐมฤกษ์ในงานนี้พอดิบพอดี ขอเขียนถึงเรื่องนี้ก็แล้วกันครับ

ชื่อเรื่อง “จอมกะล่อนราชวงศ์ถัง” ครับ จากบทประพันธ์ของ เจี๋ยอวี่เอ้อร์ นักเขียน ระดับมือ แพลทินัม ของเว็บไซต์ ฉีเตี่ยน อันโด่งดัง มีผลงานมากมายหลายเล่ม

สำหรับฉบับพิมพ์ในประเทศไทยของเราที่ได้ลิขสิทธิ์มาแต่ผู้เดียวก็คือ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย ของเสี่ย วิฑูรย์ นิรันตราย ซึ่งมอบหมายให้ น.นพรัตน์ ลงมือแปลและพิมพ์เล่ม 1 ออกมาชิมลาง

จะยาวทั้งหมดกี่เล่มในภาคภาษาไทย คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

จริงๆแล้วที่หัวหน้าทีมซอกแซกโทรศัพท์ไปหา น.นพรัตน์ ก็สืบเนื่องมาจากการเสียชีวิตของ ฉี เส้าเฉียน พระเอกเรื่อง “กระบี่ไร้เทียมทาน” ของช่อง 3 ในอดีตนั่นเอง

เผอิญหัวหน้าทีมซึ่งอายุมากแล้ว ชักจำความเก่าๆไม่ได้ละเอียด จึงต้องโทรศัพท์ไปหาข้อมูลจากคุณ น.นพรัตน์ นำมาเขียนคอลัมน์ประจำวันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ดังที่ท่านผู้อ่านคงได้อ่านกันไปแล้ว

คุยไปคุยมาก็เลยทำให้ทราบด้วยว่า คุณ น.นพรัตน์ หรือที่มีชื่อจริงว่า อำนวย ภิรมย์อนุกูล นั้น อายุครบ 74 ปีไปเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง เพราะเขาเกิดเมื่อ พ.ศ.2493

เขากับพี่ชาย อานนท์ ภิรมย์อนุกูล ซึ่งอายุแก่กว่าปีเศษ เป็นลูกชาวจีนย่านจักรวรรดิ ที่มีอาชีพเปิดร้านขายกระจกและทำธุรกิจเกี่ยวกับกระจก

ทั้ง 2 คนโชคดีมีโอกาสได้เรียนหนังสือทั้งไทยและจีน จนจบระดับมัธยมศึกษา สามารถอ่านภาษาจีนได้อย่างแตกฉาน และชอบอ่านนิยายกำลังภายในภาษาจีนมาตั้งแต่เด็กๆ

เมื่ออ่านบ่อยๆเข้า ก็เกิดความรู้สึกอยากแปลให้คนไทยอื่นๆได้อ่านบ้าง และแปลเรื่องแรกเมื่ออายุพี่ชาย 16 ปีเศษ เขา 15 ปีเศษ เรื่อง “เทพบุตรเพชฌฆาต” ใช้นามปากการ่วมกันว่า “อ.ภิรมย์”

ต่อมาอีกปีกว่า ก็แปลเรื่อง “กระบี่อำมหิต” ขายให้สำนักพิมพ์ เพลินจิตต์ ใช้ นามปากกาว่า น.นพรัตน์ ร่วมกันเป็นครั้งแรกและแจ้งเกิดด้วยเรื่องนี้เอง (พ.ศ.2509) กลายเป็น 1 ในนักแปลกำลังภายในของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 3-4 คน ใน พ.ศ.ดังกล่าว

ต่อมาใน พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นยุคของ “รัฐบาลหอย” ท่านอาจารย์ ธานินทร์ กรัย วิเชียร ซึ่งถือเป็นยุคเผด็จการ “เต็มใบ” ขั้น สูงสุด…หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้ง ไทยรัฐ ถูกกระทรวงมหาดไทยควบคุมอย่างเข้มงวด

จนเป็นเหตุให้ “โต๊ะอาหารกลางวัน” ของคณะผู้บริหารไทยรัฐ ซึ่งมี ผอ.กำพล วัชรพล เป็นประธาน มีมติให้นำนิยายกำลัง ภายในมาลงในไทยรัฐเสริมอีกแรงหนึ่ง เผื่อจะช่วยให้หนังสือพิมพ์ขายดีขึ้นบ้าง

ในยุคนั้นมีนักแปลกำลังภายในที่มีชื่อเสียงหลายท่าน…แต่เราตัดสินใจเลือก

น.นพรัตน์ เพราะเขาเป็นคนหนุ่มที่อยากลองของใหม่ๆ ยินดีที่จะมาทดลองเขียนกำลังภายในสไตล์ใหม่ คือเขียนให้อ่านง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ตัวละคร ไม่เยอะ และมีเค้าโครงเรื่องที่เร้าใจ เพราะในยุคนั้น พ.ศ.2520 ลูกค้าผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกลุ่มใหญ่ของเราคือ ผู้เรียนจบชั้นประถม 4 กับมัธยมต้น ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทย

น.นพรัตน์ เลือก “อินทรีผงาดฟ้า” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์” ของ โกวเล้ง และย่อยแล้วย่อยอีกตามคำแนะนำของพวกเรา จนกลายเป็นกำลังภายในฉบับ “ม.ต้น” ที่ฮิตที่สุดใน พ.ศ.2520

น.นพรัตน์ 2 พี่น้องอยู่กับไทยรัฐอีกหลายปี ช่วยแปลอีกหลายเรื่อง รวมถึงการเขียนกำลังภายในจากบทภาพยนตร์โทรทัศน์ เรื่องแรกของประเทศ “ศึกสายเลือด” ของช่อง 3 จนกลายเป็นอีกตำนานหนึ่งของการลงบทละครทีวีในหน้าหนังสือพิมพ์

ต่อมา น.ผู้พี่ต้องจากไปอย่างน่าเสียดาย จากโรคมะเร็งในโพรงจมูก เหลือ น.ผู้น้องเพียงเดียวดายตั้งแต่ พ.ศ.2543

เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว ที่ น.นพรัตน์ผู้น้องต้องแปลหนังสือคนเดียว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เจริญงอกงามเพราะเรื่องแปลของเขายังคงขายดีทุกเรื่อง จนไม่สามารถบันทึกได้หมดว่า เรื่องไหนบ้าง (เท่าที่นึกออกก็มี เจาะเวลาหาจิ๋นซี, มังกรคู่สู้สิบทิศ ฯลฯ เป็นต้น)

รวมทั้ง “จอมกะล่อนราชวงศ์ถัง” เรื่องล่าสุดที่เขาแปลในวัย 74 ปีบริบูรณ์ ก็เป็นที่คาดหมายจากสยามอินเตอร์มัลติมีเดียว่าจะขายดีมากๆอีกเรื่องแน่นอน.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม