สถานการณ์ “น้ำท่วมยะลา” ยังวิกฤต หลายพื้นที่น้ำสูง 1–2 เมตร ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้
วันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ ต.ท่าสาป ซึ่งมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน และ ต.หน้าถ้ำ มีจำนวน 5 หมู่บ้าน ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมด เนื่องจากน้ำเข้าท่วมสูง 1–2 เมตร ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องอาศัยเรือติดเครื่องยนต์ เข้าช่วยเหลือ
ล่าสุด ทางหน่วยงานภาครัฐเอกชน ได้สนับสนุนเรือกู้ภัย มูลนิธิสยามนคร 1 ช. โดยนายปิยะพงษ์ สุขชนะ ประธานมูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ จ.นครศรีธรรมราช ส่งเรือกู้ภัยติดเครื่องยนต์ จำนวน 5 ลำ ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่ นายอำนวย พฤกษพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนบางลาง ได้ส่งเรือติดเครื่องยนต์ จำนวน 2 ลำ เข้าช่วยเหลือเป็นการด่วน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร กรมทหารราบที่ 152 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ผนึกกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขณะที่การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ลงพื้นที่บัญชาการเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดยะลา ด้วยตนเอง เน้นย้ำ อพยพประชาชนเป็นการด่วน
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เผยว่า พื้นที่วิกฤตที่สุดในขณะนี้ คือพื้นที่ตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำ ในเขตอำเภอเมืองยะลา สิ่งสำคัญในการเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ตกค้างในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม คือ เรือ เพื่อขนย้ายพี่น้องประชาชนออกจากบ้าน มาที่ปลอดภัยที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งวันนี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน ส่งเรือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของอาหารปรุงสุก ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดยะลา ได้จัดเตรียมครัวจากหน่วยงานภาครัฐเอกชน เพื่อรองรับความเดือดร้อนของประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว
สำหรับภาพรวมในพื้นที่จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 5 อำเภอ หนักสุดที่อำเภอเมืองยะลา ส่วนในพื้นที่ อ.รามัน ระดับเริ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง ขณะนี้ได้มีประกาศแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสายบุรี เตรียมความพร้อมยกสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนในพื้นที่ อ.ยะหา คือที่ตำบลละแอ และในพื้นที่ อ.กาบัง บางส่วน และที่ อ.กรงปินัง และ อ.บันนังสตา ซึ่งขณะนี้การช่วยเหลือได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องอาหาร ในพื้นที่เขตเมืองยะลา ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักสุด ทางเทศบาลนครยะลาได้มีการจัดอาหารปรุงสุก วันละ ประมาณ 25,000 กล่อง และทางเทศบาลเมืองสะเตงนอก วันละ 5,000 กล่อง ให้กับพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ มีภาคเอกชนมีการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยทางจังหวัดยะลาได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้เน้นย้ำให้ทางนายอำเภอ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นการด่วน ซึ่งขณะนี้ ทางจังหวัดยะลา ได้มีการขอสนับสนุนเรือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ