นายกรัฐมนตรี พาคณะรัฐมนตรีบินประชุมส่วนราชการ จ.เชียงราย พรุ่งนี้ วางกรอบแผนเผชิญเหตุและป้องกันภัยของชาติอย่างเป็นระบบในอนาคต ชี้หากได้ข้อสรุปป้องกันภัยได้จะสรุปเป็น “แม่สายโมเดล”
วันที่ 26 กันยายน 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เช้าวันนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสรุปจากรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย และรัฐมนตรีที่อำนวยการสั่งการในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยให้ดำเนินการแผนการป้องกันจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือ นอกจากนี้ ศปช. ได้รายงานแผนฟื้นฟูของจังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม โดยกำชับนโยบายที่เคยสั่งการไว้ให้เร่งจ่ายเงินเยียวยาให้รวดเร็ว ลดขั้นตอนทางด้านเอกสารให้มากที่สุด
ซึ่งที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเหตุการณ์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องนำมาประมวลหาข้อสรุปในเชิงป้องกันให้ครบถ้วน
“เราไม่เคยเจอปัญหาน้ำป่าพัดโคลนจำนวนมากเข้าเมืองอย่างนี้มาก่อน ซึ่งต้องวางกรอบแผนเผชิญเหตุและป้องกันภัยของชาติ ต้องรับมืออุทกภัย วาตภัยอย่างเป็นระบบในอนาคตให้ได้ทุกภาคของประเทศ หากได้ข้อสรุปที่ป้องกันภัยได้ ก็จะสรุปเป็น “แม่สายโมเดล” เป็นต้นแบบการทำงานแก้ไขปัญหา เพราะหากเกิดปัญหาอุทกภัยในลักษณะนี้ขึ้นอีกในประเทศไทย จะได้มีแผนการรับมืออย่างครอบคลุมในทุกจังหวัด ทุกภาคของประเทศไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องรับฟังปัญหาเพิ่มเติม และรับรู้แนวทางป้องกันจากส่วนราชการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน มูลนิธิ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อนำมากำหนดนโยบายในการป้องกัน โดยวันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567) นายกรัฐมนตรี พร้อมรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการ ศปช. จะเดินทางไปที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ติดตามการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทาง และหาข้อสรุป นำมาเขียนเป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการเกิดอุทกภัย และวาตภัยของประเทศอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะพักค้างคืนที่จังหวัดเชียงรายและเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย พบพี่น้องประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาหลังการเข้าฟื้นฟูต่อไป
“ในเดือนตุลาคม แม้จะเข้าสู่ช่วง “ปลายฝนต้นหนาว” ซึ่งคาดว่าจะผ่านฤดูฝนไปในกลางเดือนตุลาคม แต่ระหว่างนี้ ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และทุกส่วนราชการ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในสัปดาห์หน้านี้ ยังมีหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง หากเกิดวาตภัย หรืออุทกภัยฉับพลันจะได้เข้าแก้ไขได้ทัน” นายจิรายุ กล่าว
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ