ปลัดเก่ง – ดร.วันดี ร่วมกับพุทธศาสนิกชน ทอดกฐินสามัคคี “วัดบางหลวงหัวป่า” ถวายเงินเพื่อสร้างวัดร้างบางหลวงหัวป่าขึ้นเป็นวัดใหม่ 8.35 ล้านบาท

วันที่ 20 ต.ค. 67 เวลา 14.00 น. ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ต.สวนพริกไทย อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ  ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีทอดกฐินสามัคคีวัดบางหลวงหัวป่า ประจำปี พ.ศ. 2567

โดยได้รับเมตตาจาก พระราชวชิรโมลี รองเจ้าคณะภาค 14 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระราชสิริวัชรรังษี รองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวราราม วรวิหาร พระพิมลภาวนาพิธาน เจ้าคณะเขตบางกอกน้อย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม และคณะสงฆ์ ร่วมประกอบพิธี

การประกอบพิธีทอดกฐินสามัคคีวัดบางหลวงหัวป่า ประจำปี พ.ศ. 2567 มีคณะผู้มีจิตศรัทธาและประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ (คุณโจ) คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยมีปัจจัยถวายรวมทั้งสิ้นจำนวน 8,350,506 บาท

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่งว่า “กฐิน” เป็นคำศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ชาวพุทธเรารู้กันทั่วไปว่าการทอดกฐินเป็นบุญพิเศษ เพราะจำกัดด้วยเวลาและการถวายให้กับพระภิกษุผู้จำพรรษาในวัดที่ทอดกฐินเท่านั้น

การสร้างวัดก็เสมือนเป็นการสร้างสถานที่ฝึกอบรมคนให้เป็นคนดี เราต้องช่วยกันการสร้างคนดีให้มีมากขึ้นในสังคม คนดีมาก คนไม่ดีก็น้อยลง คนไม่ดีน้อย สังคมก็เป็นสุข เวลาสอนคนทุกครั้ง อาตมาไม่เคยสอนให้คนไปสวรรค์นิพพาน แต่สอนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ของประเทศชาติ จึงฝากวัดบางหลวงหัวป่าไว้ให้ทุกคนร่วมกันดูแล เนื่องจากวัดมิได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นของทุกคน เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา

พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าในพรรษานี้ มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน 5 รูป ซึ่งเดิมบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นวัดร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาตมภาพ จึงได้ร่วมกับ “ปลัดเก่ง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 41 ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย “ดร.ตุ๋ม” ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์ และขอยกวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อไป เป็นวัดสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม มีเนื้อที่ 23 ไร่ 64 ตารางวา

โดยในช่วงที่ผ่านมา วัดได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ต้นไม้ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ต้นไม้ทุกต้นจะมีคิวอาร์โค้ดอยู่ เพื่อให้รู้ว่าชื่ออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของ คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี ที่ประสงค์จะให้สถานที่แห่งนี้ เป็นรมณียสถาน สถานที่แห่งความร่มเย็น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นสถานที่แห่งการร่วมทำในสิ่งที่ทุกคนในโลกใบนี้ต้องช่วยกัน

นั่นคือ การลดภาวะโลกร้อนตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การก่อสร้างตอนนี้ทำหลายอย่าง อุโบสถกำลังก่อสร้างได้เงินบริจาคจาก คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ตั้งต้น 17 ล้านบาท เจ้าของช่อง 7 ถวายมาอีก 7 ล้านบาท คุณละออ ตั้งคารวคุณ ช่วยสร้างกุฎิให้ 1 หลัง ยังมีเจ้าภาพสร้างหอระฆัง หอกลองให้ด้วย ที่เล่ามาทั้งหมด อาตมาไม่ได้หมายความว่าเอ่ยชื่อแต่คนถวายเงิน พูดเพื่อให้ทุกท่านร่วมกันอนุโมทนา เนื่องจากความตั้งใจของอาตมาสร้างวัดต้องให้เป็นของทุกคน มิได้ต้องการให้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นศาสนสถานที่เป็นผลต่อเนื่องจากการสนองพระบรมราโชบายในการแก้ไขในสิ่งผิดฟื้นฟูคลองเปรมประชากรจากที่น้ำเน่า มีผู้คนบุกรุก ให้กลับมาใสสะอาดสวยงามสร้างความสุขให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า เพราะวัดนี้เป็นวัดร้างริมคลองเปรมประชากรมีประชาชนบุกรุกอยู่อาศัยจำนวนหนึ่ง ท่านพระครูต้น จึงได้พูดคุยและจัดหาที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างบ้านให้ใหม่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกครัวเรือนสมัครใจย้ายและนำที่ดินวัดร้างมายกฐานะเป็นวัดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา.