เปิดเงื่อนไข “ทนายตั้ม” ส่องเกณฑ์เข้าข่ายผิดมรรยาททนาย ด้าน “สภาทนายความ” ชี้ที่ผ่านมามีการร้องเรียน เผย 3 โทษหนักถึงขั้นลบชื่อ เตือนกฎเหล็กทนาย ไม่ควรโอ้อวดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น

กลายเป็นคดีร้อน ที่อาจเกี่ยวโยงกับความเสียหายกว่า 71 ล้านบาท วันนี้ (7 พ.ย.67) ตำรวจกองปราบจับกุม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม คดีหลอกลวงเงิน “เจ๊อ้อย” ตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาฉ้อโกง,ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และสมคบฟอกเงิน โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จับกุมได้ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากขับรถหรูปอร์เชออกจากบ้านพักตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 09.30 น.

ภายหลังได้นำตัวมาที่กองปราบปราม กรุงเทพฯ ทนายตั้ม ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ และเข้าให้ปากคำกับตำรวจพร้อมภรรยาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ขณะสังคมมีการตั้งคำถาม ถึงการทำหน้าที่ทนายความต่อจากนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อลูกความหรือไม่ “วีรศักดิ์ โชติวานิช” อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลต่อประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมาเคยมีบุคคลมายื่นเรื่องให้ตรวจสอบในเรื่องการกระทำผิดมรรยาททนายความ ของทนายตั้ม มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ทางสภาทนายความยังไม่สามารถเปิดเผยได้

การที่ศาลออกหมายจับทนายตั้ม แล้วมีการจับกุม ไม่ส่งผลกระทบกับการตรวจสอบการทำผิดมรรยาททนายความ เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงยังไม่สามารถพักใบอนุญาตทนาย หรือลบชื่อได้ เพราะสภาทนายความมีกติกาในการตรวจสอบ

กรณีทนายความถูกร้องเรียน มรรยาททนายความ ทางสภาทนายความมีกระบวนการตรวจสอบ เช่นกรณีที่ทนายถูกออกหมายจับ ในการนำเงินของลูกความไป เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา เรื่องจะอยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการมรรยาท ถ้าพิจารณาแล้วให้รับเรื่องไว้ จะมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน 3 คน จากนั้นสืบหาข้อเท็กจริงทั้งผู้ถูกกล่าวหา และผู้กล่าวหา และหลังจากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อให้มีการลงมติ เมื่อได้ผลก็จะส่งมติมายังคณะกรรมการบริหาร แล้วมานำเสนอในที่ประชุมใหญ่ ในการพิจารณาขั้นสุดท้าย

“ในการพิจารณามรรยาททนายความ ในขั้นสุดท้ายหากทนายความคนนั้นไม่มีความผิด ก็จะยกว่าทนายคนนั้นไม่มีความผิด แต่อีกมุมหนึ่ง หากมีความผิด มีการพิจารณาโทษ3 ระดับคือ 1.ความผิดน้อย มีการภาคทัณฑ์ 2.พักใบอนุญาต ตามกฎหมายระบุว่า ห้ามพักเกิน 3 ปี 3.โทษร้ายแรงมากที่สุด เป็นการลบชื่อ จากทะเบียนทนายความ แต่มีการระบุว่าอย่างน้อย หลัง 5 ปีไปแล้ว ถึงสามารถยื่นขอกลับมาเป็นทนายความได้ แต่จะได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร”

ที่ผ่านมาสภาทนายความมีการพิจารณาเรื่องมารยาททนายความชื่อดัง แต่ไม่สามารถบอกกับสังคมได้ว่าอยู่ในขั้นตอนไหน เพราะกฎหมายระบุว่า ให้แจ้งผลการพิจารณาไปยังศาลกับอัยการ ซึ่งอนาคตอาจต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ด้วย

ลูกความทนายตั้ม จะได้รับผลกระทบหรือไม่

“วีรศักดิ์” กล่าวต่อว่า กรณีของลูกความทนายตั้ม จะได้รับกระทบต่อเมื่อ การที่ส่งเรื่องไปยังศาลแล้วไม่ให้ประกันตัว จะต้องส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษ ทำให้การดูแลลูกความที่ยังมีคดีค้างอยู่ เกิดปัญหาและอุปสรรค ถ้ามีการยื่นขอประกันตัว แล้วศาลให้ประกัน ก็มีสิทธิที่จะออกมาดูแลลูกความที่มีคดีค้างอยู่ได้ แต่ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ลูกความอาจต้องไปขอเลื่อนการพิจารณาคดี หรือหากสำนักทนายความแห่งนั้น มีทนายคนอื่นสามารถรับช่วงต่อได้หรือไม่

“ถ้าทนายตั้ม ได้รับการประกันตัว ก็สามารถว่าความให้ลูกความต่อได้ แต่ในการที่จะเปลี่ยนทนายหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับลูกความ”

อยากเตือนทนายความที่กำลังใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากลูกความ นอกเหนือจากจริยธรรม ซึ่งตอนนี้มีทนายความที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศเกือบ 1 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในข้อบังคับ แต่มีทนายความไม่กี่รายที่มีการร้องเรียนเรื่องมารยาท โดยเฉพาะการโอ้อวดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่นในเรื่องต่างๆ ก็ถือว่ามีความผิดมารยาท หรือการไปโฆษณาตัวเองว่ารับว่าความฟรีก็ผิดมารยาทเช่นกัน.