ตำรวจ ปคบ.ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขออัยการไปร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดี ดิไอคอน ชี้เป็นคดีผู้เสียหายจำนวนมากเป็นวงกว้าง ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อให้สืบสวนมีประสิทธิภาพ อำนวยความยุติธรรมรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ได้มีหนังสือถึงนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อัยการ มาตรา 14 ส่งพนักงานอัยการมาร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดีใจความว่า
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ได้มีนายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค ผู้กล่าวหากับพวกมาพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก กรณีผู้กล่าวหากับพวกได้สมัครเป็นตัวแทนขายสินค้า มีการสอนขายสินค้าออนไลน์ วิดีโอคอนเทนต์ มีตัวแทนหรือแม่ทีมชักชวนให้เปิดบิลซื้อของบริษัทฯ และจะได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า
ผู้กล่าวหากับพวกเสียเงินให้กับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปแล้ว ปรากฏมาทราบความจริงในภายหลังว่าเป็นการชวนให้ร่วมลงทุนโดยเน้นระดมทุนเน้นการชักชวนคนมาเป็นเครือข่ายมากกว่าเน้นการขายสินค้า รู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถขายให้กับบุคคลอื่นได้เพราะเป็นสินค้าที่ใหม่ ไม่เป็นที่รู้จัก มีราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้ผู้กล่าวหากับพวกได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด โดยได้รับคำร้องทุกข์ตามคดีอาญาของกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามคดีอาญาที่ 70/2567
เหตุเกิดที่บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เลขที่ 165/42-46 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ระหว่างปี พ.ศ. 2564-2567 จากการสืบสวนสอบสวนการกระทำของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกเข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
โดยคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมากเป็นวงกว้างและความเสียหายจำนวนมาก และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหลายคน อีกทั้งเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ เป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของรัฐต้องตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ 16
จึงขอความร่วมมือเพื่อโปรดมอบหมายพนักงานอัยการเข้าร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดี เพื่อทำให้การสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพ และเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการขอพนักงานอัยการไปร่วมให้คำแนะนำปรึกษาคดี ที่ผ่านมาก็เคยมีในคดีสำคัญหลายคดี ซึ่งส่วนมากจะเป็นพนักงานอัยการจากสำนักงานการสอบสวนซึ่งมีความเชี่ยวชาญ อย่างเช่น คดีกำนันนก.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ