กลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าดิ ไอคอน กรุ๊ป บุกสำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นหลักฐานการถอนแจ้งความดำเนินคดีบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป อ้างไม่ได้รับความเสียหาย ที่แจ้งความตอนแรกกลัวถูกดำเนินคดี พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง ทั้งขอให้การเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริง บันทึกแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหา และเอกสารรับรองการประกันตัวบอสพอล แต่ไม่มีใครมารับหนังสือ เพราะไม่ได้นัด เพียงฝากเอกสารส่งให้คณะทำงานพนักงานอัยการพิเศษนำไปพิจารณาต่อไป
กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หอบสำนวนการสอบสวนคดีดิ ไอคอน กรุ๊ป จำนวน 348,209 แผ่น หลังสอบสวนผู้เสียหาย 7,875 ราย พบมูลค่าความเสียหาย 1,644 ล้านบาท มีความเห็นสั่งฟ้อง 18 บอส นำโดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณาสั่งคดี เบื้องต้นนางเยาวลักษณ์ นนทแก้ว อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ตั้งทีมอัยการพิเศษพิจารณาสำนวนการสอบสวนที่รับมาจากดีเอสไอ ยืนยันว่าสามารถพิจารณาสำนวนได้ทันผัดฟ้องฝากขังสุดท้ายอย่างแน่นอน
ความคืบหน้าจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ธ.ค. น.ส.ปราณิชพัชร์ วรกาญจน์ ตำแหน่งโกลด์ดีลเลอร์ บริษัทดิ ไอคอน กรุ๊ป นำตัวแทนจำหน่ายสินค้าดิ ไอคอน ที่เคยแจ้งความกับบริษัท พร้อมนำเอาบันทึกประจำวันผู้ที่เคยแจ้งความไว้ หลังจากนั้นขอถอนแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ไปแล้ว มามอบให้สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า มีความประสงค์ถอนแจ้งความ พร้อมให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ บันทึกสอบปากคำพยานทุกฝ่ายที่เคยให้การไว้ใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นหลักฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีต่อไป
นอกจากนี้ กลุ่มตัวเเทนจำหน่ายสินค้าดิ ไอคอน นำเอกสารมายื่นให้พนักงานอัยการประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย 1.บันทึกประจำวันแสดงเจตนาขอให้การเพิ่มเติม เพื่อให้ตรงตามข้อเท็จจริง 2.เอกสารเป็นพยานให้บุคคลในคดีดิ ไอคอน กรุ๊ป 3.เอกสารบันทึกแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหาเพิ่มเติม และ 4.เอกสารรับรองการประกันตัวนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล
น.ส.ปราณิชพัชร์กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่มีความประสงค์จะถอนแจ้งความตอนนี้ รวมตัวกันได้หลักร้อยคน ทุกคนยืนยันว่า การรวมตัวเพื่อร้องเรียนกรณีนี้ ไม่มีการถูกบังคับ ตอนนั้นที่ตัดสินใจไปแจ้งความ สาเหตุเพราะเกรงกลัวว่าจะมีความผิดไปด้วย เนื่องจากเข้าใจผิดว่า ดิ ไอคอน กรุ๊ปเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย ถ้าไม่แจ้งความจะมีความผิดไปด้วยจึงไปแจ้งความ ต่อมารวมตัวกันไปถอนแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่ให้ถอนแจ้งความ ตนไม่ใช่แม่ข่ายของดิ ไอคอนกรุ๊ป ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย แต่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการซื้อขายผลิตภัณฑ์ของดิ ไอคอน กรุ๊ป เชื่อว่าดิ ไอคอน กรุ๊ป ไม่เคยหลอกลวงพวกตน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกลุ่มตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ดิ ไอคอนฯ เดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าว แต่ไม่ได้นัดหมายเจ้าหน้าที่ไว้จึงไม่มีใครลงมารับหนังสือ จึงเพียงยื่นเอกสารไว้เพื่อส่งต่อให้คณะทำงานของอัยการพิเศษนำไปพิจารณาต่อไป
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ