“ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข” โร่ตรวจสอบคลินิกเวชกรรม “ดิไอคอนกรุ๊ป” พร้อมจี้ “บอสหมอเอก” หากยืนยันที่จะไม่มาพบเจ้าหน้าที่ ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือการออกหมายเรียกและออกหมายจับ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ต.ค. 2567 นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ., เจ้าหน้าที่ สบส. และ อย. ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกเวชกรรม ดิไอคอน เวลเนส (The Icon Wellness) ของบริษัทในเครือ ดิไอคอน กรุ๊ป ตั้งอยู่ภายในซอยรามอินทรา 7 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่า มีการประกอบกิจการทางการแพทย์ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่

จากการตรวจสอบพบเป็นอาคารทาวน์โฮม ปลูกติดกัน ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวบนเนื้อที่ 5 คูหา โดยภายในคลินิกดังกล่าวอยู่ระหว่างปิดกิจการ และมีลูกค้าที่เดินเข้ามาติดต่อจำนวนมาก เนื่องจากมีการเปิดให้กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนเข้ามาลงทะเบียนรับการเยียวยา

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ตั้งแห่งนี้เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ประกอบด้วยร้านต่างๆ อาทิ กาแฟ, ฟิตเนส, สถานที่เก็บสินค้าผลิตภัณฑ์, สำนักงานใหญ่ และคลินิกเสริมความงาม แต่ละส่วนจะมีพื้นที่ขนาด 1-2 คูหา ยกเว้นในส่วนของสำนักงาน ที่มีขนาดใหญ่สุด 5 คูหา วิธีสังเกตว่าอาคารไหนเป็นของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปฯ ดูได้จากป้ายสัญลักษณ์ด้านหน้าที่จะเป็นโลโก้บริษัทแบบเดียวกันทั้งหมด โดยที่หน้าตึกทุกตึกจะมีการติดกล้องวงจรปิดทุกมุม

ดร.ธนกฤต กล่าวว่า หลังจากที่เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) ทางคณะได้ไปดำเนินการแจ้งความเอาผิด ดร.ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือ บอสหมอเอก ของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปฯ กรณีแอบอ้างเป็นแพทย์ตามข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อสาธารณะ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องการขยายผลต่อมาที่คลินิกที่เคยปรากฏภาพ บอสหมอเอก ทำการรักษาผู้หญิงไม่น้อยกว่า 5 ราย ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ดร.ธนกฤต กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ วันนี้คลินิกดังกล่าวปิดให้บริการ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบด้านในได้ แต่ตนเองมองว่าไม่ใช่ปัญหา เจ้าหน้าที่พร้อมที่จะกลับมาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า คลินิกแห่งนี้ให้บริการอย่างถูกต้อง ยาที่ใช้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สถานบริการอีกแห่งที่เป็นจุดที่จะลงตรวจสอบที่ 2 ของวันนี้ถือว่าเป็นไฮไลต์ของการลงพื้นที่ ตนเองได้ประสานให้นายฐานานนท์ มาแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานที่จุดตรวจค้นที่ 2 เพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวตนว่า เป็นหมอจริงหรือไม่ เพราะในสื่อโซเชียลโดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดตามของบริษัทฯ เข้าใจว่า เป็นหมอ

ดร.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่า ผู้ที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์จะไม่ใช้คำว่า นายแพทย์ หรือ หมอ ผู้ที่ไม่ได้เป็นหมอตามวิชาชีพเวชกรรม แต่แอบอ้างถือว่าเป็นหมอเถื่อน ตนจึงไม่สามารถเรียกว่าหมอเอกได้แต่ขอเรียกว่า คุณเอก สิ่งนี้ถือเป็นการให้เกียรติแล้ว แต่ถ้าคุณเอก ยังยืนยันที่จะไม่มาพบเจ้าหน้าที่ ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือการออกหมายเรียกและออกหมายจับ

ทางด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การตรวจสอบว่าเป็นแพทย์หรือไม่ ของแพทย์สภาสามารถเข้าไปตรวจสอบที่เว็บไซต์ได้เลย เพราะจะมีฐานข้อมูล ซึ่งหากไม่มีในฐานข้อมูลก็ไม่ใช่แพทย์ ตามที่ขึ้นทะเบียนกับแพทย์สภา ก็เป็นหมอเถื่อน ถ้าหากหลอกลวงก็จะมีความผิดตามกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจะมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นโทษค่อนข้างรุนแรง และหากมีการประกอบวิชาชีพในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีโทษจำคุกอีก 5 ปี ถ้าแสดงตนเป็นผู้ดำเนินการก็จะมีโทษของผู้ดำเนินการอีก 5 ปี จึงขอฝากเตือนหากไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพอย่าแสดงตน หรือไปให้บริการเพราะโทษค่อนข้างร้ายแรง

ส่วนคลินิกที่เข้ามาตรวจสอบพบว่า เป็นคลินิกเวชกรรมให้การรักษาโรคทั่วไป เป็นคลินิกที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เนื่องด้วยคลินิกปิด จึงยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จะต้องมาใหม่เพื่อมาตรวจสอบว่าเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรที่ให้บริการ รวมทั้งการให้บริการเป็นไปตามมาตรฐาน และมีความเหมาะสมที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบกิจการที่จะขออนุญาตได้ จะต้องเป็นบุคคลมีอายุเกิน 20 ปี มีถิ่นอาศัยในประเทศไทย ก็สามารถเปิดคลินิกได้แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่แพทย์ผู้ดำเนินการจะต้องควบคุมกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพ ถ้าปล่อยปละให้คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์มาให้บริการก็จะมีโทษตามกฎหมาย จำคุก 2 ปี และต้องควบคุมไม่ให้ผู้มาใช้บริการกับคนที่ไม่ใช่หมอ.