“โฆษกดีเอสไอ” แจงกรณีแม่ข่ายดิ ไอคอน ประมาณ 100 คน บุกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอถอนแจ้งความดำเนินคดีบริษัทดิ ไอ คอน กรุ๊ป และ 18 บอส อ้างว่า ที่ร้องทุกข์ตอนแรกเพราะเข้าใจผิด ตามข้อกฎหมายไม่สามารถถอนแจ้งความได้ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพนักงานอัยการพิเศษจะพิจารณา นอกจากนี้ยังถือว่า สละสิทธิ์การเยียวยา หลังจากการยึดอายัดทรัพย์เสร็จสิ้นแล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย
กรณีตัวแทนจำหน่ายสินค้าบริษัทดิ ไอคอนกรุ๊ป จำกัด จำนวนหนึ่ง ที่เคยแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัท ดิ ไอคอนฯ นำบันทึกการแจ้งความ ไปมอบให้พนักงานอัยการพิเศษ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่ามีความประสงค์จะถอน แจ้งความกับ 18 บอส อ้างว่าเนื่องจากกลัวว่าจะถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี ความคืบหน้าจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 ธ.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า คดีอาญามี 2 ประเภท คือ 1.คดีอาญาที่ยอมความได้ หรือคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดียักยอก ฉ้อโกงธรรมดา เป็นต้น ถ้าหากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ คดีอาญาจะระงับ และ 2.คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน หรือคดีที่ยอมความไม่ได้ คดีประเภทนี้ถึงแม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ก็ไม่มีผลให้คดีอาญาระงับลง เช่น คดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า หรือแชร์ลูกโซ่
“ดังนั้น การพิจารณาต่างๆ เมื่อดีเอสไอส่งสำนวน ไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องผลของรูปคดีจะไม่ได้ทำให้คดีอาญาระงับลง ส่วนกรณีบุคคลเคยแจ้งความไว้และภายหลังมากลับคำขอถอนการแจ้งความ การที่บุคคลใดไปให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวนคือการให้คำต่อเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย และกฎหมายระบุไว้ว่า มันคือการให้คำให้การโดยสมัครใจ ดังนั้นการจะเปลี่ยนคำให้การ หรือเปลี่ยนสาระสำคัญของคำให้การ ผู้ร้องทุกข์ต้องอธิบายความเช่นเดียวกันว่า เกิดจากสาเหตุใด ทำไมจึงประสงค์ขอถอนแจ้งความ ต้องอธิบายกับพนักงานอัยการด้วย” พ.ต.ต.วรณันกล่าว
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวอีกว่า เนื่องจากกฎหมายเขียนไว้ในคำให้การอยู่แล้วว่า การให้คำให้การที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมีโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 ความเสียหายกับความผิดทางอาญามันแยกกัน หมายความว่าหากคุณเป็นผู้เสียหายแล้วคุณไม่ประสงค์ จะรับการชดใช้ความเสียหาย กฎหมายไม่ได้คัดค้านอะไร ไม่ประสงค์ดำเนินคดีก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่คุณให้ไว้ต้องเป็นหลักฐานในคดีอยู่ดี หากยังยืนยันความประสงค์ถอนแจ้งความต่อพนักงานอัยการ ดังนั้นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายเพื่อรับการชดใช้เฉลี่ยทรัพย์สินคืนจะถูกตัดไปด้วย เพราะคุณไม่ประสงค์รับความเสียหาย
พ.ต.ต.วรณันกล่าวด้วยว่า กรณีกลุ่มตัวแทน จำหน่ายสินค้าดิ ไอคอน ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอถอนแจ้งความ ขอยืนยันว่าไม่มีผลในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 18 คน และ 1 นิติบุคคล เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ไม่ใช่คดีอาญาส่วนบุคคล ขณะนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอัยการว่า จะมีคำสั่งทางคดีว่าฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาหรือไม่ ภายในระยะเวลาฝากขังระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค.2568
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ