ดีเอสไอ จัด 3 ผู้อำนวยการกองคดี เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่ม 18 บอสดิไอคอนในเรือนจำ “แชร์ลูกโซ่ – พ.ร.บ.ขายตรง” ในวันพรุ่งนี้ (11 พ.ย. 67)

วันที่ 10 พ.ย. 67 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า วันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีการดำเนินคดีอาญากับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 18 ราย ได้แก่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 และ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 19, 20 นั้น

ในส่วนของหัวหน้าทีมคณะพนักงานสอบสวน ประกอบด้วย 3 ผู้อำนวยการกองคดีของดีเอสไอ ได้แก่ ตน พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ นอกจากนั้นคือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของแต่ละกองคดี โดยตนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสหญิง 7 ราย ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ขณะที่ในส่วนของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูล และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาแก่บรรดาบอสชายทั้ง 11 ราย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในกรณีของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล จะเป็นความรับผิดชอบของ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับการบริหารจัดการภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ดีเอสไอจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของเรือนจำฯ เช่น ทางเรือนจำ ทัณฑสถาน จะจัดสถานที่รองรับ หรือจัดการรอบเข้าพบผู้ต้องขังแต่ละรายอย่างไรบ้าง

สำหรับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นในช่วงการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องขัง คือ ดีเอสไอจะทำการแจ้งข้อเท็จจริงในคดี แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 2 กฎหมาย แจ้งพฤติการณ์แห่งคดี เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบถึงสาเหตุที่พนักงานสอบสวนมองว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และเมื่อผู้ต้องหารับฟังข้อเท็จจริงจากพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้ต้องหาจะรับสารภาพหรือไม่ หรือผู้ต้องหาจะปฏิเสธข้อหา หรือถ้าปฏิเสธแล้วจะขอทำคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือไม่ หรือจะยื่นบัญชีพยาน ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ 18 บอสดิไอคอนฯ รวมถึงกรณีของมารดานักการเมืองท่านหนึ่งที่มีธุรกรรมทางการเงินเชื่อมโยงกับบอสพอลนั้น ได้มีการประสานงานเรื่องข้อมูลระหว่างดีเอสไอ และ บก.ปปป. หรือไม่ อย่างไร พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบเรื่องธุรกรรมทางการเงิน เส้นทางการเงิน จะอยู่ในเลขคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีที่มีความผิดต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีฟอกเงินทางอาญา แต่ถ้ากล่าวตามหลักการ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการส่งรายละเอียดดังกล่าวมายังดีเอสไอ ทางดีเอสไอก็จะดูสาระเนื้อหาก่อนว่ามีประเด็นใดบ้าง และมีพยานหลักฐานรายการใดบ้าง เมื่อดีเอสไอในฐานะรูปคณะทำงานได้ร่วมกันตรวจสอบกลั่นกรองเบื้องต้นแล้ว ทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้พิจารณาว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นใน

ส่วนของคดีมูลฐาน อย่างคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีแชร์ลูกโซ่ดิไอคอน หรือคดีพิเศษที่ 115/2567 กรณีฟอกเงินทางอาญา เพื่อให้มีข้อสั่งการไปยังกองคดีนั้น ๆ รับไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการสอบสวนเรื่องแชร์ลูกโซ่ คณะพนักงานสอบสวนของดีเอสไอจะมีการประชุมร่วมกันทุกวันศุกร์ของสัปดาห์เพื่ออัปเดตความคืบหน้าระหว่างกันว่าประเด็นที่ได้มีการมอบหมายไปนั้น ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง