เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ยังมีแนวคิดเบื้องต้นในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการประเมิน PISA โดยการเตรียมความพร้อมครูผู้ช่วย ด้วยการเพิ่มการพัฒนาทักษะการออกข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับการประเมิน PA ด้วย

รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงโครงการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น โดยขณะนี้สำนักงานปลัด ศธ.ได้จัดทำข้อมูลนักเรียนที่ลงในระบบทุกวันที่ 10 มิ.ย.ของทุกปี โดยได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประสานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แล้ว เพื่อจัดทำข้อมูลเป็นชุดเดียวกันในการติดตามและอัปเดตข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลแบบเรียลไทม์ ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถนำเข้าข้อมูลเชื่อมโยงการติดตามเด็กตกหล่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ กสศ.ได้ สำหรับข้อมูลเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 6-18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่ กสศ.ระบุจำนวน 394,039 คนนั้น ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย 190,934 คน และต่างชาติ 203,105 คน ได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งดึงเด็กกลับเข้าเรียน

“สพฐ.ได้คิกออฟเริ่มโครงการพาน้องกลับมาเรียนนำการเรียนไปให้น้องแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผมได้ย้ำว่าต้องนำเด็กไทยที่หลุดระบบกลับเข้ามาให้ได้มากที่สุด ส่วนเด็กต่างชาติถ้าพบตัวแล้วต้องการเรียน ต้องให้ได้เข้าเรียน พร้อมขอให้ สพฐ.มีมาตรการ 3 เรื่อง คือ 1.ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ หาสาเหตุเพื่อการป้องกัน 2.เมื่อมีเด็กหลุดระบบ ต้องมีวิธีการพาเด็กกลับมาเรียน และ 3.หากเด็กกลับมาเรียนไม่ได้ ต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สกร. เพื่อให้เด็กได้เรียน” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว.