เรามีนายกฯคนใหม่ ทำงานได้อาทิตย์กว่าๆ การเมืองไทยก็หมุนเข้าหาโหมดเก่า เสียงครหาโกลาหล อย่าว่าแต่ลูก ตัวพ่ออีกคน จะทนอยู่ต่อไปได้อีกกี่น้ำ

คนแก่รุ่นผมรำคาญการเมือง อยากจะบอกคนพ่อนั้นระดับเทพมารสะท้านฟ้า คนลูกก็ไม่ทิ้งเชื้อลูกเสือลูกมังกร…งานล้มนายกฯเศรษฐา…ง่าย แต่งานล้มครั้งนี้…ไม่ง่าย เกรงแต่ว่าฝ่ายตั้งใจล้มจะหงายท้องไปเสียก่อน

แต่จะรอดหรือไม่ ตัดสินกันที่ฝีมือ พ่อกำกับการแสดงเก่ง ลูกแสดงได้ดี

คิดถึงเรื่องชีวิตที่ต้องอยู่รอด ผมนึกเรื่องป้าสำอาง ลุงสงวน คู่เพลงขอทาน อ่านจากหนังสือ “เกร็ดจากวงเพลง” (เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์พิมพ์คำ พ.ศ.2555)

ตอนป้าสำอางเกิดป่วยหนักพ่อแม่เอาไปทิ้งให้ตาย ที่วัดบางน้อย สมุทรสงคราม ขอทานเก็บเอามาเลี้ยง

ลุงสงวนเกิดบ้านแพน พระนครศรีอยุธยา พ่อทิ้งแม่ไป ปล่อยให้อยู่กับผัวใหม่ติดฝิ่น พ่อเลี้ยงเจ็บหนักแม่เอาไปขายให้ขอทานเลี้ยงต่อ เออ! หนอ! ชีวิตที่เกิดมาคับแค้นขั้นนี้ ทั้งป้าทั้งลุงยังมีชีวิตอยู่ดีจนแก่เฒ่า

ในหัวข้ออย่าหมิ่นเพลงขอทาน เอนก นาวิกมูล เขียนลง “วิทยาสาร” ก่อน พ.ศ.2519 ขอทานตาบอดยอดฝีมือ เจอราวๆตีสอง ในงานลอยกระทงเมืองแปดริ้ว คนที่เดินผ่านไปมาแน่นหนา หลายคนสะดุดหยุดดู

ปากแกก็ร้องเพลงของแกไป น่าเสียดายที่เสียงมหรสพกลบเสียง นิ้วเท้าสองข้างแกคีบฉาบไว้ตีเป็นจังหวะ แขวนฉิ่งคู่หนึ่งที่คอ มีโทน 1 ใบ ฆ้องราว 3 ใบ ร้อยเป็นพวง ชุดเครื่องดนตรีแค่นยังไม่พอ แกยังมีขลุ่ยอีก 1 เลา

ต้นเหตุคนสะดุดหยุดยืนดูอยู่นาน ก็น่าจะเพราะขลุ่ยเลานี้ แกไม่ได้เป่าด้วยปาก แต่เป่าด้วยรูจมูก

พอร้องๆไปก็หยุดตีฆ้องบ้าง ขยับกรับบ้าง ตีโทน ตีฉิ่งบ้าง ตามแต่จังหวะของการเดินเรื่อง

“ใครๆที่มายืนฟังแล้ว ล้วนแต่ต้องหยอดเหรียญให้แกทั้งนั้น” เอนกว่า

ระหว่างเอนกถ่ายภาพ ก็ถามคนที่ช่วยเหลือแกอยู่ข้างๆได้ความว่า แกเป็นคนสองพี่น้อง สุพรรณบุรี เป็นลำตัดมาก่อน ต่อมาตาบอดจึงออกร่อนเร่ขอทานตระเวนไปทั่วเมืองไทย

เรื่องต่อมา ขอทานฝีมือขั้นอภิมหาศิลปิน รุ่นเก่า ที่เอนกเกิดไม่ทัน แต่อ่านมาจากสาส์นสมเด็จ…

วันหนึ่ง สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะผนวชเป็นพระ ทรงเดินกลับจากบิณฑบาต ผ่านมาทางศาลเจ้าพ่อเสือ พบขอทานตาบอดนั่งสีซออยู่ข้างถนน แกร้องไปด้วยสีซอไปด้วย

“มันช่างเพราะดีเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบเห็นการเล่นดนตรีที่ไพเราะจับใจเหมือนคราวนี้ เล่นเอาลืมสติหย่อนฝีเท้าฟังเสียงสำเนียงการบรรเลง จนพ้นมาด้วยความเสียใจ โกยอาบัติไปพอแรง

จะกราบทูลได้อย่างง่ายๆว่า ตาคนที่เล่นเพลงพาลืมตัวไปได้นั้นคือ ตาคนที่มีชื่อลือชาสมญาว่า” ตาสังขารา ทำนองร้องของแกก็ไพเราะไปในทางร้อง และความก็ดีด้วย ส่วนทางซอของแกก็ไพเราะไปในทางดนตรีอีกทางหนึ่ง

แต่ทั้งสองทางเข้ากันสนิทสนมกลมเกลียวดีเหลือเกิน

ติดใจจนกระทั่งสึกออกมาแล้ว ลองทำดูบ้างไม่ยักได้ ถ้าสีซอเหมือนร้องแล้วทำได้ แต่ร้องไปทางร้อง สีซอไปทางซอ ทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าตาสังขารานั้นเป็นคนเลิศประเสริฐมนุษย์

แกแบ่งใจได้เป็นสองภาค เล่นสองอย่างพร้อมกันได้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ตอบ รู้จักวณิพกผู้นี้ดี เรียกแกว่าตาสังขารา เพราะแกขับเรื่องปลงสังขารและเรื่องพระยาฉัททันต์จับใจ ของดีๆไม่จำเป็นจะอยู่แต่ในตัวตนคนชั้นใด แม้ในตัววณิพกก็มีได้

เรื่องของขอทานฝีมือขั้นศิลปินที่เอนกเล่า เป็นบทเรียนสอนว่า มนุษย์ทุกชนชั้นอยู่รอดได้ ด้วยสมองและสองมือ ขอแค่รู้ตัวว่าทำอะไร

หากเป็นนายกฯ ก็ต้องห่วงเรื่องความรู้…ความเข้าใจงานการเมือง แต่ถ้าห่วงเรื่องแต่งหน้าแต่งตัวมากกว่า ก็น่าสงสารพ่อแม่ที่โอ๊ะโอ๋กันมา และที่สงสารมากกว่าก็คือคนไทยและประเทศไทย.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม