ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป ตนจะเข้ารับตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เบื้องต้นตั้งใจจะนำสมาชิก ทปอ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต่างๆในไทยร่วมมือกัน ที่ผ่านมาการจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดโดยองค์กรต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการแข่งขันกันเอง ในฐานะประธาน ทปอ. ตนมียุทธศาสตร์ที่จะผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาของประเทศในองค์รวม เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน จะช่วยส่งผลต่อภาพรวมในที่สุด รวมทั้งทุกพื้นที่ทุกตารางเมตรของจุฬาฯ คือพื้นที่สำหรับทุกมหาวิทยาลัย ของประชาชนทุกกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาความรู้ โดยจะเปิดกว้างทั้งหมด ที่ผ่านมาบางพื้นที่อาจเป็นพื้นที่หารายได้ แต่จากนี้ไปจะเป็นพื้นที่สำหรับแสวงหาความรู้ จะมีการปิดถนนเพื่อการศึกษา ปิดถนนเพื่อเกษตรกร ปิดถนนเพื่อผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม ดังนั้นนิสิตนักศึกษา ประชาชน สามารถใช้พื้นที่ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับนโยบายของจุฬาฯในการพัฒนาเยาวชนด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงประเทศเป้าหมายในการดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียน ศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า เป้าหมายคือ กลุ่มประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีนและประเทศกลุ่มอาเซียน แต่ความยากและท้าทายคือ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้ชื่อเสียงของประเทศไทย คนต่างชาติจะเลือกประเทศก่อนถึงจะเลือกมหาวิทยาลัย จึงต้องแสวงหาความร่วมมือตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษา ขยายไปที่กลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เช่น บริษัทหัวเหว่ย บริษัทกูเกิล เป็นต้น ส่วนข้อกังวลประชากรเกิดน้อยจะกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษานั้น ตนไม่ห่วง เพราะมหาวิทยาลัยต้องขยายกลุ่มผู้เรียน โดยเปิดกว้างให้เป็นสถาบันการศึกษาของทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และกลุ่มเป้าหมายคือคนในประเทศและทั่วโลก ดังนั้น ตลาดเราก็จะใหญ่ขึ้น ทุกมหาวิทยาลัยต้องสร้างหลักสูตรที่รองรับคนในวงกว้างมากขึ้น และจุฬาฯจะเป็นผู้นำการเรียนรู้ตลอดชีวิต.