ตำรวจสอบสวนกลาง จับกุม 2 ผู้ต้องหารับเปิดบัญชีม้า หลอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ให้โหลดแอปฯ ดูดเงินผู้เสียหายไปกว่า 2 ล้านบาท
วันที่ 13 ตุลาคม 2567 มีรายงานว่า ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.3 บก.ปอท. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป.ปรก.บก.ปอท., พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.ชิษณุพงศ์ ไหวดี ผกก.3 บก.ปอท., พ.ต.ท.สัญญา นิลนพคุณ, พ.ต.ท.เสริมศักดิ์ น้อยหัวหาด, พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล รอง ผกก.3 บก.ปอท.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ประทีป จันทร์เพชรบุรี, พ.ต.ท.ประดิษฐ์ สุวรรณดี, พ.ต.ท.หญิง สุธัญดา เอมเอก, พ.ต.ท.ชัยณรงค์ จอมเล็ก, พ.ต.ท.ณรงฤทธิ์ พุ่มพวง สว.กก.3 บก.ปอท., ร.ต.อ.ประมุข ภิรมย์เจียว และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท.
ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา น.ส.ดวงรัตน์ฯ อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 4818/2567 ลง 30 ก.ย. 67 และ นางรวินันท์ฯ อายุ 54 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 4814/2567 ลง 30 ก.ย.67 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน, ร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, ร่วมกันกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นระงับ ชะลอ ขัดขวางหรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (16), 269/5, 269/6, 269/7 และ 335(6)(7) ประกอบมาตรา 83 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 5, 7, 10, 12/1 วรรคแรก และมาตรา 14(1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มาตรา 9
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (CIB AOC) ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้เสียหายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ โดยผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แจ้งว่าจะมาเปลี่ยนมิเตอร์ที่บ้านของผู้เสียหาย หลังจากนั้นมีการส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่อ้างว่าเป็นแอปพลิเคชันของการไฟฟ้าฯ โดยหลอกให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนของผู้ต้องหา
และมีการสแกนใบหน้าพร้อมบัตรประชาชน ต่อมาผู้เสียหายพบว่า มีข้อความแจ้งรหัส OTP จำนวนหลายครั้ง ผู้เสียหายจึงเชื่อว่า ถูกหลอกลวงเนื่องจากมีเงินในบัญชีถูกโอนออกไปจำนวน 2 ล้านกว่าบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนสอบสวน พบมีบัญชีม้าเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะมีผู้เสียหายอีกหลายราย
ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนขยายผลและสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 รายได้ จากนั้นนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสืบหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการทั้งหมดต่อไป
สอบถามคำให้การเบื้องต้น ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่าเป็นผู้ไปเปิดบัญชีม้าทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านจริง โดยได้รับการติดต่อชักชวนผ่านทางเฟซบุ๊กให้ไปทำงานเกี่ยวกับบัญชี แต่อ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และได้ค่าเปิดบัญชีคนละ 12,000 บาท.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ