เด็กคลองบางเรือหัก ใกล้ปากอ่าวแม่กลองรุ่นผม รู้จัก จิ้งก่า จิ้งเหลนครับ…แต่ไม่รู้จักแย้
เคยอ่านวิธีเล่นกับแย้แถวๆ สวนโมกข์ ไชยา ของท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นงาน งามและง่าย แค่หายอดกิ่งไม้เล็ก หมุนล่อ แย้ก็วิ่งขึ้นฝ่ามือ นั่น!เป็นการเล่นหยอก ระหว่างพระผู้เปี่ยมเมตตากับแย้สัตว์น่ารัก
แต่หากเป็นแย้กับคนที่จับมันเป็นอาหาร…งานนั้น เป็นงานโหด งานเอาเถิดเจ้าล่อ…เล่นเชิงกันหลายชั้น
เรื่อง “เรื่องงานจับแย้” ผมอ่านจากหนังสือ นักเล่านิทาน และเรื่องอื่นๆ (นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เขียน สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา พ.ศ.2562) เพิ่งซื้อมาหมาดๆ วันสุดท้าย งานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์
คุณปู่นิพัทธ์พร เป็นชาวพัทลุง ตอนเป็นเด็กพัทลุงยังไม่เจริญ ไม่มีไฟฟ้าไม่มีน้ำประปา ถนนยังไม่มีมีแต่ทางเกวียน การเดินทางไปจังหวัดอื่น ถ้าไม่ไปทางเรือก็ต้องไปรถไฟ
ชาวบ้านทำนากินเอง พ้นจากบ้านก็เป็นป่าดิบ อุดมด้วยหมูป่า ช้าง เสือ บางคืนมีเสียงช้างร้องฮูมๆใกล้ๆบ้าน เวลาฝนตกจั้กๆ บางครั้งกระจง หน้าตาคล้ายกวางแต่ตัวเล็กกว่า วิ่งหลบฝนออกมาจากป่า
ปู่ขว้างด้วยดุ้นฟืน เย็นวันนั้นก็ได้กระจงแกงเผ็ดเอร็ดอร่อย ไม่ต้องออกไปหาอาหารอื่นๆ
ปู่ได้ชื่อเลื่องลือ มีฝีมือในการจับแย้ สัตว์เลื้อยคลานหน้าตาคล้ายจิ้งก่าจิ้งเหลน แต่ตัวลายพร้อยกว่า สีสันสดใสทั้งส้มเหลือง บางตัวยาวจากจมูกถึงปลายหางถึงหนึ่งศอก
จับแย้ได้แล้ว ก็ถลกหนัง ตัดมือตัดตีน ผ่าท้องควักเครื่องใน ย่างไฟให้พอแห้ง สับละเอียดทั้งกระดูก ก่อนเอาไปผัดแกง กระดูกอ่อนสับละเอียดพร้อมเนื้อ ทำให้คนกินแย้ติดใจ เคี้ยวได้ความนุ่มหวานของเนื้อและความกรุบกรับ
ถ้าผัดเผ็ดแย้กับขมิ้นและดีปลีพริกพื้นบ้าน กลิ่นหอมฉุยกับรสพริกเผ็ดถึงใจ ทำให้กินข้าวหมดหม้อได้ง่ายๆ
แต่ถ้าจะให้ถูกกันที่สุด ต้องเอาแย้สดสับละเอียดมาแกงคั่วสับปะรดจะอร่อยยิ่งกว่าอะไรหมด
นิพัทธ์พรนำร่องเรียกน้ำย่อยแล้วว่า “คุณปู่ จึงชอบกินแย้ และหาวิธีจับแย้อย่างน่าสนใจ”
ปกติเวลาเที่ยงแดดร้อนจัด แย้จะหลบลงรูที่ขุดอยู่ตามพื้นดิน รูแย้สังเกตง่าย ปากรูเป็นวงรี หารูแย้เจอแล้ว ปู่ใช้เถาย่านางยาวห้าหกเมตร ปลายข้างหนึ่งทำบ่วงกลมเล็กกระตุกได้ เอาไปครอบรูแย้ ทีละสี่ห้ารู
ปู่ถือปลายเถาย่านางนั่งซุ่มคอย พอแดดหย่อน อากาศคลายร้อนลงหน่อย แย้ก็จะค่อยๆโผล่ มันจะยื่นหัวขึ้นมา หยุด หันซ้ายขวา เป็นจังหวะให้ปู่กระตุกบ่วงรัดคอ จนดิ้นไปไหนไม่ได้
ทีนี้ปู่ก็จะคอยกระตุกไปทีละรูๆ จนได้แย้สี่ห้าตัวพอกินมื้อหนึ่ง
แต่วันไหนครึ้มฟ้าครึ้มฝน อากาศหม่นเหมือนฝนจะตก การจับแย้ก็ยิ่งง่าย เพราะแย้จะหลบลงรู ขุดดินเป็นเม็ดๆขุยๆปิดปากรู กันไม่ให้น้ำฝนไหลเข้า ปู่ต้องเดินด้วยฝีเท้าเบากริบ ไม่ให้แย้รู้ตัว
เจอรูปู่จะนั่งยองๆ มือขวาเงื้อขวานจ้อง ใช้นิ้วซ้ายดันดินขุยปูปิดปากรู ดินกระทบตัว แย้ก็จะขึ้นมาดันปลายนิ้ว ปู่ฟาดขวานฉับดินปากรูยุบทลาย หนีบแย้เอาไว้ ปู่จะขุดดินตรงรอยฟาดจับแย้ได้
แต่บางครั้ง แย้บางตัวฉลาด ไม่ยอมขึ้นมาดันปลายนิ้ว มันจะหลบออกไปทาง “พังเหย”
พังเหย คือรูสำรองที่แย้ขุดไว้มุดหนีเวลามีภัย อยู่ไม่ไกลรัศมีรูหนึ่งเมตร เมื่อแย้หนีไปทางพังเหย มันจะดันตัวจนดินอูดนูนเห็นได้ชัด
ปู่ก็ฟาดขวานฉับ และจับแย้ตัวที่ว่าฉลาดหนี ได้ทุกทีเหมือนกัน
พัทลุงสมัยนั้นแย้ชุมมาก ปู่เล่าว่าจับเท่าไหร่ก็ไม่หมด พอคุณปู่มีลูก ปู่ก็สอนลูก คือพ่อของนิพัทธ์พรด้วยประการฉะนี้ ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ที่เรารู้จักกัน ท่านจึงเป็นนักล่าแย้ฝีมือดีไปอีกคน.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ