อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มก. ค้นพบ “กระเจียวสรรพสี” พืชชนิดใหม่ของโลก ในป่าชุมชน อ.แม่สอด จ.ตาก มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
วันที่ 6 พ.ย. 2567 ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ตนได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ กระเจียวสรรพสี ซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์อยู่ในป่าชุมชน ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก เพียงแห่งเดียว
โดยกระเจียวสรรพสีมีลักษณะพิเศษพบได้ยากในกระเจียวชนิดอื่นคือ มีใบประดับที่มีสีสันหลากหลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ กระเจียวสรรพสี และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Harlequin curcuma ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma diversicolor ซึ่งมีความหมายว่ามีหลายสีเช่นเดียวกัน
สำหรับกระเจียวสรรพสีดังกล่าว ค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยทำการเก็บตัวอย่าง นำมาปลูกเลี้ยงจนออกดอกและทำการเก็บข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ รวมถึงได้ตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียวในพิพิธภัณฑ์พืชต่าง ๆ จนแน่ใจว่าเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน และเป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกอย่างแท้จริง การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Annales Botanici Fennici เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ดร.ศุทธิณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า กระเจียวสรรพสี เป็นพืชล้มลุก มีความสูงได้ถึง 80 ซม. มีลำต้นใต้ดินเป็นรูปไข่หรือรูปทรงลูกแพร์ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีเหลืองครีม ก้านใบมักมีสีน้ำตาลแดงที่ฐาน ใบรูปรี แผ่นใบพับจีบมีสีเขียวมักมีแถบสีแดงที่เส้นกลางใบ ช่อดอกออกก่อนเกิดใบ ออกที่ด้านข้างของลำต้น ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกมีใบประดับได้มากถึง 40 ใบ มีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีขาวถึงสีชมพูอมม่วง และมักมีแต้มสีเขียวถึงสีชมพูที่ปลาย ส่วนกลีบดอกมีสีชมพูอ่อนถึงสีครีมมีแต้มสีชมพูอ่อนที่ปลาย
สำหรับลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกนั้นคือ กระเจียวสรรพสีเป็นกระเจียวที่ออกดอกก่อนใบเพียงชนิดเดียวของไทย ที่มีความแปรผันของสีใบประดับอย่างหลากหลาย เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระเจียวสรรพสีได้เป็นอย่างดี และมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับต่อไป
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ