เจ้าหน้าที่นำหมายศาล ค้นบ้าน “พล.อ.พิศาล” ผู้ต้องหาคดีตากใบ ไม่พบตัว คนดูแลบ้าน บอกไปต่างประเทศ ไม่มีใครอยู่กว่า 1 เดือนแล้ว

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 ต.ค. พล.ต.ต.วรชาติ แสนคำ ผบก.สส.ภ.1 พ.ต.อ.ประธาน นันทกอบกุล รอง ผบก.สส.ภ.1 พ.ต.ท.พูนสุข เตชะประเสริฐพร รอง ผกก.1 กก.สส.ภ.1 นำกำลังชุดสืบสวนพร้อมหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งใน ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านพักของพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อายุ 74 ปี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพื่อทำการจับกุม พลเอกพิศาล ผู้ต้องหาตามหมายจับระหว่างพิจารณาศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ 178/2567 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เรื่องคดีความอาญา ระหว่าง นางสาวฟาดีฮะห์ ปะจุกูเล็ง โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 48 คน ฟ้อง พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 9 คน

เนื่องด้วย พลเอกพิศาล กระทำความผิดฐาน “ความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อเสรีภาพ” ในคดีตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เนื่องจากมีหลักฐานว่าน่าจะกระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี และน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี อีกทั้งยังหลบหนีไม่มาศาลตามกำหนดนัด จึงให้จับตัวพลเอกพิศาล เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ไม่เกินวันที่ 25 ตุลาคม 2567

ผลการตรวจค้น ไม่พบตัวพลเอกพิศาล อยู่ในบ้านพัก โดยมีนายอัษฎา ทองวงศ์ษา อายุ 28 ปี เป็นผู้ดูแลบ้าน พาเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น พร้อมให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า พลเอกพิศาล ไม่ได้พักอยู่ที่บ้านหลังนี้มานานกว่า 1 เดือน ทราบแต่เพียงว่าเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่ทราบว่าไปประเทศใด และเดินทางกลับเมื่อใด ซึ่งพบว่าสภาพบ้านมีการปิดล็อก คล้ายไม่มีผู้พักอาศัยมาเป็นเวลานาน โดยทางชุดสืบสวนใช้เวลาในการตรวจค้นราว 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับ

สำหรับในคดีนี้สืบเนื่องจาก พลเอกพิศาล เป็นจำเลย 1 ใน 9 คน ที่โจทก์รวม 48 คน ซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จากเหตุการณ์ชุมนุมปิดล้อม สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้นได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ประกาศกฎอัยการศึก โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ จนเกิดความวุ่นวาย ก่อนจะสลายการชุมนุม เข้าจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทหาร 25 คัน เพื่อนำตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี แต่ผู้ที่ถูกจับกุมเสียชีวิตรวม 85 ราย

โดยผู้เสียชีวิตในจำนวนนี้ มี 78 ราย เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ขณะถูกลำเลียงบนรถ ซึ่งในคดีนี้ใกล้ครบกำหนด 20 ปี อีกทั้งคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจและเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย.