ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้านฐานะทางเศรษฐกิจและอื่นๆ กลายเป็นปัญหาถาวรของประเทศไทย ในโอกาสที่มาร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” เมื่อเร็วๆนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว
ปัจจุบันนี้เด็กหลุดหายไปจากระบบการศึกษา กลายเป็นปัญหาสำคัญอีก อย่างหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่มีถึง 11 ด้าน เช่นความ จำเป็นของครอบครัว การย้ายพื้นที่อยู่รายได้ไม่เพียงพอ สุขภาพหรือความพิการ การคมนาคมไม่สะดวกหรือผู้ปกครองไม่ใส่ใจ
นักวิชาการด้านการศึกษาชื่อดัง และกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลายเดือนก่อน ว่าความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นปัญหาที่ไม่มีใครเข้าไปจัดการ เป็นต้นตอของความยากจนทำให้ประเทศไทยติดหล่ม เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่มีมายาวนาน
หลักฐานที่ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นต้นตอของความยากจนก็คือปัจจุบันนี้ ครอบครัวที่ฐานะยากจนที่สุด จบการศึกษาระดับชั้นประถม มีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,021 บาท มีประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมด ครอบครัวคนชั้นกลาง จบปริญาตรีขึ้นไป มีรายได้ 4,611–57,000 บาท ส่วนครอบครัวผู้ร่ำรวย มีรายได้ 290,000 บาท ก่อให้เกิดการแบ่งชนชั้นชัดเจน ทั้งในเรื่องรายได้และอื่นๆ
การแบ่งชนชั้น นอกจากด้านรายได้แล้ว ยังมีความแตกต่างในด้านโอกาส ศักดิ์ศรี และอำนาจ เป็นต้น ชัดเจนที่สุด คือในขณะนี้ ในขณะที่กรณี “ดิ ไอคอน” โด่งดังก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ เรียกกันว่าชนชั้น “เทวดา” ส่วนใหญ่มาจากนักการเมืองและข้าราชการ ผู้มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดใดๆ
รัฐบาลในยุคหลังๆ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากรัฐประหารมักจะประกาศนโยบายแก้ความยากจนและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการ ลดแลกแจกแถม หรือประชานิยม รัฐบาล ปัจจุบันสัญญาจะแจกเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป 50 ล้านคนทั่วประเทศ คนละ 1 หมื่นบาท แต่เอาเข้าจริงแจกได้ยังไม่ถึงครึ่ง
แจกได้ช่วงแรกประมาณ 14 ล้านคน ช่วงต่อไปยังไม่แน่นอน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปดูรัฐบาลต่างๆที่ผ่านมา นโยบายแจกเงินไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน เช่น การแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการรัฐ เริ่มแรกเพียงไม่กี่ล้านคน ขณะนี้พุ่งขึ้นเป็น 14 กว่าล้าน ยิ่งแจก ยิ่งจน รัฐบาลโฆษณาว่าจะทำให้จีดีพีโตปีละ 5% แต่ทำได้ส่วนใหญ่ไม่ถึง 3%.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ