“คมนาคม” ขีดเส้น 2 เดือน สั่งตรวจสภาพรถโดยสาร NGV ทุกคัน เผยมีแนวโน้มสั่งเลิกใช้แก๊ส เรื่องอายุรถ 50 ปี ไม่มีกฎหมายกำหนด
วันที่ 2 ตุลาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังเรียกกรมการขนส่งทางบก มารายงานข้อมูลกรณีการเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี บนถนนวิภาวดีรังสิต (ขาเข้า) บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เป็นเหตุให้มีนักเรียนและครูเสียชีวิตรวม 23 ศพ และบาดเจ็บหลายราย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถคันที่เกิดเหตุเป็น “รถโดยสารไม่ประจำทาง” ประเภท 30 ซึ่งติดตั้งและใช้แก๊ส NGV เป็นเชื้อเพลิง เบื้องต้นมีมาตรการเร่งด่วนแรก โดยสั่งให้กรมการขนส่งทางบก เรียกรถที่ติดแก๊ส NGV ทั้งหมด 13,426 คัน เพื่อตรวจสภาพใหม่ทั้งหมด หากคันไหนไม่ผ่าน จะยึดใบประกอบการทั้งหมด และไม่อนุญาตให้ประกอบการต่อ
สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทาง ส่วนใหญ่จะกระจายตัวอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมาตรฐานในการตรวจเช็กอาจจะไม่ครอบคลุม แต่ตอนนี้รถทุกคันที่ติดแก๊สจะต้องเข้ามาตรวจสภาพให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน
มาตรการที่สองคือ รถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 จะต้องมีพนักงานขับรถพร้อมพนักงานท้ายรถทุกครั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่มีกฎหมายครอบคลุมเหมือนรถประจำทาง จึงได้ให้อธิบดีกรมขนส่งทางบกสั่งการไปทันที
โดยในระยะเร่งด่วนนี้ นายสุรพงษ์ ระบุว่า กรณีเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงคุณครูที่ขาดความรู้ในการเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษาและผู้ใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 หากจำเป็นต้องไปทัศนศึกษา ก่อนออกเดินทาง ให้ตรวจร่วมกับขนส่งจังหวัด และต้องได้รับการอนุญาตก่อน เพราะอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากตัวรถ ส่วนระยะยาว จะเริ่มศึกษากฎหมายและระเบียบในการกำหนดอายุการใช้งานของรถ เพื่อปรับเปลี่ยนใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“วันนี้รถคันไหนที่เป็นการบริการเพื่อสาธารณะที่ประชาชนใช้บริการ ต้องขอความร่วมมือกำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้น เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ยังไงก็ต้องทำทุกวิถีทาง เพราะชีวิตมีค่ามากกว่าทรัพย์สิน เราเสียใจ ทุกคนมีครอบครัว มีลูกหลาน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่พอเกิดแล้วก็ต้องเผชิญกับมัน หลังจากนี้รถจะถูกเรียกมาตรวจทั้งหมด โดยจะโฟกัสไปที่รถ 30 ก่อน” รมช.คมนาคม กล่าว
นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งคือ ก่อนรถจะออกเดินทางทุกครั้ง จะต้องมีการสาธิตวิดีโอในการเอาตัวรอดในภาวะฉุกเฉินเหมือนเครื่องบิน ซึ่งปกติรถโดยสารประจำทางจะมีอยู่แล้ว ยกเว้นรถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 จึงสั่งให้กรมการขนส่งทางบกออกข้อบังคับ โดยในวันนี้จะมีหนังสือเป็นคำสั่งการออกไป
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่ารถคันที่เกิดเหตุมีอายุมากกว่า 50 ปีนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขอสงวนไว้ก่อน และรอการตรวจสอบเพื่อให้มีความแม่นยำ ไม่อยากพูดแล้วกระทบต่อรูปคดี ขอให้หน้างานทำงานได้อย่างเต็มที่ก่อน พร้อมรับปากว่าจะแจ้งรายละเอียดให้กับสื่อมวลชนทราบหลังจากนี้
ส่วนแนวโน้มการยกเลิกการใช้แก๊สกับรถโดยสาร เบื้องต้นมีการพูดคุยกันอยู่ จะเห็นว่า สถานบริการแก๊สในปัจจุบันก็มีน้อยลง การตัดสินใจครั้งนี้ก็อาจจะมีผลกระทบอยู่บ้าง
“รับปากกับประชาชนว่า เราจำเป็นจะต้องยกระดับมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น สำหรับการขอผ่อนปรนในการต่ออายุรถ วันนี้จะต้องยืนตรงแล้ว มิเช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” รมช.คมนาคม กล่าว
นายชีพ น้อมเศียร ผอ.วิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก ตอบเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณภาพของถังแก๊ส CNG รถโดยสารสาธารณะโดยจะตรวจปีละ 2 ครั้งจากวิศวกร เพื่อตรวจดูรอยรั่วของแก๊สด้วยว่า อุปกรณ์ข้อต่อต่าง ๆ มีการชำรุดหรือไม่ และการใช้งานหากเกิน 15 ปี หรือมีการสึกหรอของถังก็จะไม่ให้ผ่านสภาพได้
เรื่องอายุการใช้งานของรถ กรมการขนส่งทางบกไม่ได้มีการกำหนด ขึ้นอยู่กับการตรวจสภาพ รถที่ใช้ไปแล้วอาจเกิดการชำรุด ก็ให้ผู้ใช้นำกลับไปบำรุงรักษา เมื่อผ่านแล้วก็จะอนุญาตให้ต่อภาษีและใช้งานได้ต่อไป
นอกจากนี้ จำนวนถัง CNG สำหรับรถ 1 คัน จะดูน้ำหนักบรรทุกได้เท่าไหร่ จะน้ำหนักรวมสูงสุดของรถลบด้วยน้ำหนักของผู้โดยสาร จะเหลือพื้นที่ให้ติดตั้งถัง CNG โดยปกติแล้วจะไม่เกิน 5-6 ถัง
สำหรับรถคันที่เกิดเหตุเป็นรถจดทะเบียนเป็นยี่ห้อ ISUZU มีเครื่องยนต์เป็น Mercedes-Benz และพบว่า มีการติดโลโก้เบนซ์เอาไว้ ซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ไม่มีระเบียบกำหนดเอาไว้ว่ามีความผิด จึงไม่มีผลในการตรวจสภาพแต่อย่างใด
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า รถโดยสารทั้งหมดที่ติดแก๊ส CNG มีจำนวนทั้งสิ้น 13,426 คัน แบ่งเป็นรถโดยสารไม่ประจำทาง 2,935 คัน และรถโดยสารประจำทาง 10,491 คัน.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ