หลังทนาย “บอสพอล” ออกมาแฉถึงขบวนการนักตบทรัพย์ ที่อ้างเป็นคลิปเสียงและหลักฐานสำคัญ ซึ่งมีการเรียกรับเงินช่วยเหลือคดี “ทนายเกิดผล” มองว่า ขบวนการนักตบทรัพย์ มีทั้งที่เป็นข้าราชการนอกรีต และเอกชนที่เป็นตัวกลาง ส่วนใหญ่ปราบยาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างสมยอม
คดีดิไอคอน กลายเป็นประเด็นที่รันไปทุกวงการ ตั้งแต่นักการเมือง ไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด ล่าสุด แม้ “บอสพอล” ถูกควบคุมตัว พร้อมกับบรรดาบอส รวมทั้งหมด 18 คน แต่ทนายของบอสพอล ก็นำคลิปเสียง ออกมาแฉ อ้างว่าเป็นคลิปเสียงของและนักร้องเรียน ที่เรียกรับเงิน 10 ล้านบาท ประกอบกับก่อนหน้านั้นก็มีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นนักการเมือง มาเรียกรับเงิน โดยแฉว่ามีคนเรียงหน้าเข้ามาตบทรัพย์กว่า 80 คน บางรายเรียกเงินสูงถึง 20 ล้านบาท
โดยคลิปเสียงดังกล่าว มีการอ้างว่า บอสพอล ได้แอบนำเครื่องอัดเสียงซุกซ่อนไว้บริเวณเป้ากางเกง หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง อาจเป็น “แผนซ้อนแผน”
ประเด็นนักตบทรัพย์ และขบวนการในการวิ่งเต้นทางคดี ทีมข่าวสอบถามไปยัง “ทนายเกิดผล แก้วเกิด” ทนายความชื่อดัง ให้ข้อมูลว่า นักตบทรัพย์ที่ยื่นข้อเสนอในการช่วยเหลือทางคดี มีทั้งคดีใหญ่และคดีเล็ก แต่ในคดีเกี่ยวโยงกับทางธุรกิจ ส่วนหนึ่งคนที่กระทำผิดมักมีผลประโยชน์แอบแฝงกับข้าราชการนอกรีต
สำหรับ ข้าราชการถ้าทำงานตรงไปตรงมา ก็จะไม่ต้องไปพูดกันเรื่องสินบน กรณีดิไอคอน ถ้ามีการกระทำผิดในเรื่องฉ้อโกงจริง และเจ้าหน้าที่รัฐทำงานอย่างเข้มงวด คงไม่ปล่อยให้ทำมานานถึง 6 – 7 ปี แต่ที่ผ่านมาทำไมปล่อยให้มีผู้เสียหายมากมายขนาดนี้ เพราะเขาเชื่อว่าไม่กระทำผิด หรือถ้ากระทำผิดก็มีคนที่คอยช่วยเหลือ
บางกรณีขบวนการนักตบทรัพย์ อาจได้รับสัญญาณจากเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าบริษัทนั้นกำลังเข้าข่ายการกระทำผิด เลยส่งสัญญาณผ่าน “นักร้องเรียน” และกลุ่มคนเหล่านี้จะอ้างว่ารู้จักกับผู้ใหญ่ นักการเมือง เมื่อเข้าไปพบกับเจ้าของบริษัทจะอ้างว่า คุณกำลังกระทำผิดอยู่ มีหลายหน่วยงานที่จะเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งพอเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ก็จะมีบรรดานักร้องเรียน ที่อยู่ในหลายฝ่าย เข้ามาเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
น่าสนใจว่า นักตบทรัพย์บางส่วนเคยได้รับผลประโยชน์จากผู้ที่กระทำผิด นี่แสดงว่า คนที่จ่ายเงินก็รู้ว่าตัวเองกำลังกระทำผิดอยู่ เลยอยากจ่ายเงินให้จบไป และพอคนหนึ่งได้เงิน ก็มีการบอกต่อ จนทำให้มีนักตบทรัพย์ที่มาเรียกรับผลประโยชน์หลายทาง
กรณีทนายบอสพอล อ้างว่า มีคนที่มาเรียกรับเงินถึง 80 คน ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า หากเป็นจริงอย่างที่อ้าง นั่นแสดงว่า เขาอาจรู้ว่ากำลังกระทำผิด เพราะคนปกติ คงไม่ปล่อยให้คนที่เข้ามาตบทรัพย์ถึง 80 คน บางกรณีอาจเป็นการสมยอม เพื่อไม่ให้มีประเด็น แต่คาดว่านักตบทรัพย์ ไม่น่าจะมีมากถึง 80 คน เพราะถ้ามากขนาดนั้น คนดีในสังคมก็ไม่เหลือแล้ว
“ขบวนการนักตบทรัพย์ส่วนใหญ่ กระทำกับคนที่มีเงิน เพราะคนพวกนี้ก็ไม่อยากถูกดำเนินคดี หรือชื่อเสียงเสื่อมเสีย แต่บางกรณีคนเหล่านี้ก็ไม่สามารถรีดไถได้ เพราะคนมีเงินบางรายมีทนายที่เข้มแข็ง และรู้เล่ห์เหลี่ยมของคนพวกนี้”
นักตบทรัพย์ แบ่งเป็นกลุ่มเอกชนและข้าราชการ
“ทนายเกิดผล” เล่าว่า ส่วนใหญ่พวกนักตบทรัพย์ แบ่งเป็นกลุ่มเอกชนและข้าราชการ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง มีทั้งที่เข้ามาหาผู้กระทำผิดโดยตรง และนักการเมืองที่ใช้กลุ่มตัวกลาง ซึ่งกลุ่มที่นำเสนอตัวเองแล้วมีหลักฐาน ก็ต้องมีการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ในกลุ่มที่ใช้ตัวกลาง หลายรายอาจสาวไปไม่ถึงต้นตอ
ส่วนกลุ่มเอกชน แม้ไม่มีหน้าที่ในเชิงตรวจสอบ แต่เป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบน แต่ถ้าอ้างแล้วไม่นำเงินไปวิ่งเต้นกับหน่วยราชการนั้นจริง ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ถูกรีดไถ จะดำเนินคดีในฐานกรรโชกทรัพย์หรือไม่
นักตบทรัพย์ เป็นปัญหาที่แก้ยากมากในสังคมไทย เพราะเป็นเรื่องสมยอมกันระหว่างคนที่ตบทรัพย์กับผู้กระทำความผิด เพราะนักตบทรัพย์อาศัยจังหวะที่ผู้กระทำความผิดกลัวกฎหมาย เป็นช่องทางทำมาหากิน ตราบใดที่มีคนทำผิดกฎหมาย ก็จะมีนักตบทรัพย์อยู่ด้วยเสมอ
การป้องกันนักตบทรัพย์ ถ้าเกิดเราไม่ผิด ก็ไม่ต้องไปจ่ายหรือคุยกับคนเหล่านี้ และควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่มีความรู้ ไปปรึกษากับนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ทนายความ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถ้ากำลังทำไม่ถูก ก็อย่าไปทำ เพราะจะเป็นเป้าให้กับบรรดานักตบทรัพย์รีดไถ.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ