งานศพ “ไจ๊” ลูกผู้น้องผมที่วัดประทุม แม่กลอง เมื่อปลายสิงหาฯ ก็เหมือนหลายๆงานที่ญาติพี่น้องที่แยกย้ายกันไปอยู่คนละทิศละทางได้มาเจอหน้า นับนิ้วไล่เลียงทุกข์สุขกัน
งานนี้ไจ๊หญิงลูกสาวคนโต “โกติ๊” ได้ “ไจ๊” ชาย ลูกชายโกอำ ทั้งสองโกคือน้องเตี่ยผมที่เป็นพี่ใหญ่…เป็นประธานจุดศพ
เรื่องเล่าความหลังตอนแรกเกิดไจ๊หญิงมีสิบเอ็ดนิ้ว ภาษาจีน เรียก “จั้บอิ้ดไจ๊” โกอำเลี้ยงเรียกติดปาก ปีต่อมาลูกชายโกอำเกิด ชื่อเรียกไจ๊หญิง ก็กลายมาเป็นชื่อไจ๊ชาย ซึ่งเติบโตเป็นทหารยศถึงพันเอกไปอีกคน
ช่วงเวลางานศพไจ๊ พอดีคนพาทายาทอินจันแฝดสยามจากอเมริกา มาดูถิ่นฐานบ้านเกิด “แหลมใหญ่” เตี่ยอินจันมีบันทึกชื่อให้เข้าใจว่าตี๋ เชื่อกันว่าเป็นคนจีนแถวๆบ้านเรา
ผมลองไล่เลียงหาสาแหรกตระกูลก๋งผม มีสามพี่น้อง กิ๋นชุ่ย คัวชุ่ย อั้งชุ่ย ดูบ้าง
กลุ่มก๊งผมเป็นชาวประมง จากเมืองเกียวอัน จังหวัดอ่ำฮ้ง มณฑลฮกเกี้ยน คะเนจากรุ่นก๊งผมก็เดาได้ว่ามาจากจีนหลังเตี่ยอินจันหลายสิบปี
ลงจากวางไม้จันทน์จากเมรุ…หันรีหันขวาง เจอ ยังชิน แก้วชัยเจริญกิจ ผมก็แปลกใจ
ยังชินเขียนนิทานการเงิน ผมเอาเรื่องมาเขียนในคอลัมน์หลายครั้ง เพิ่งรู้แม่ยังชินเป็นน้องสาวเฮียซ้ง สามีไจ๊หญิง เออ! ไม่ใช่ญาติใช้หลัก ความคุ้นเคยเป็นญาติ ฝีมือแต่งหนังสืออย่างยังชินสำหรับผมเป็นยิ่งกว่าญาติ
“ทำไม ไม่เขียนอีกสักเล่ม?” ผมถาม เพราะคิดว่าฝีมือขนาดยังชินถึงระดับนักเขียนมือรางวัล
ยังชินมีเรื่องลึกที่ดูจะรู้อยู่ในใจ ไม่บอกผมมารู้หลัง “มติชน” ฉบับ 2 ก.ย. เปิดพื้นที่เต็มหน้า พาดหัวใหญ่นิทานการเงิน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 13 เฮ้ย!เว้ย! หนังสือที่พิมพ์ซ้ำถึง 13 ครั้ง…นี่คือรางวัลใหญ่
สำหรับนักเขียนที่เขียนหนังสือเล่มเดียว ใช่ว่าใครผู้ใดจะได้เกียรตินี้ไปง่ายๆ
มีโฆษณา ปกใหม่ ภาพประกอบใหม่ สนุกเพลินคูณ 2 ผมช่วยโฆษณาซ้ำ อ่านเรื่องที่ 8 เรื่องเดียว เต่าเร็วเท่าม้า กับปลาไม่ต้องว่ายน้ำ ก็คุ้มค่าหนังสือทั้งเล่มแล้ว
แต่โดยวิสัยผมต้องเอาเรื่องยังชินเขียนให้แฟนๆในคอลัมน์อ่าน…วันนี้ ได้ที ขอเรื่อง “เตี๊ย ” (เสียงเรียกพ่อในสำเนียงจีนฮกเกี้ยน) สอนวิชาหาเงินด้วยขนมโก๋
ตอนผมยังเป็นเด็ก อาชีพของเตี๊ยคือขายกาแฟและของชำ
จึงมีขนมแบบจีนไว้ขาย เช่น ขนมถั่วตัด ขนมคอเป็ด แต่เตี๊ยเลือกยื่นขนมโก๋ ซึ่งเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหนาหนึ่งนิ้ว กว้างยาวประมาณฝ่ามือเด็ก
“เอ็งว่าขนมโก๋ชิ้นนี้มีค่าเท่าไหร่” เตี๊ยถาม “ชิ้นละสลึง” ผมตอบ ราคากว่าสมัยสามสิบปี
เตี๊ยยิ้มแล้วพูดว่า “ขนมโก๋ชิ้นนี้มีค่ามากกว่าหนึ่งสลึง” ผมงง ก็ผมเพิ่งขายไปชิ้นละสลึง และขายหลายครั้งแล้ว เพื่อให้หายงงเตี๊ย
อธิบายว่า ขนมโก๋ชิ้นนี้มีค่ามากกว่าสลึง
เพราะกว่าที่จะมาเป็นขนมแป้งสีขาวรสหวานเช่นนี้ คนเราต้องปลูกข้าว เอาข้าวมาขัดสี โม่เป็นแป้ง ต้องปลูกอ้อยทำน้ำตาล แล้วต้องนวด ต้องผสมแป้งกับน้ำตาล เมื่อเป็นขนมพร้อมกินแล้ว
กว่าจะมาถึงร้านยังต้องให้อาแป๊ะแก่ๆหาบมาส่งอีก
สมัยนั้น ร้านกาแฟของเตี๊ยซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสองสามกิโลเมตรเป็นถนนลูกรังสีแดง การคมนาคมไม่สะดวก ผมยังจำภาพอาแป๊ะคนหนึ่งหาบขนมเต็มสาแหรกมาส่งขายที่ร้านได้ดี
จำไม่ได้ว่าตอนนั้นผมอายุเท่าไหร่ แต่การเดินทางของขนมโก๋ ชิ้นนั้น ได้เดินคู่กับชีวิตผมมาจนทุกวันนี้
อ่านเรื่องการเดินทางของขนมโก๋จบ…หลับตานึกถึงร้านกาแฟเตี๊ยยังชิน ห่างจากบ้านผมไปนิดเดียว…เจอหน้ายังชินอีกที ผมจะถาม…เตี๊ยคุณมาจากเมืองจีน รุ่นเดียวหรือรุ่นหลังก๋งผมมากน้อย?
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ