ต้นสังกัดสั่งพักงานไม่มีกำหนด “กู้ภัยหัวร้อน” ต่อยลุงวัย 50 ปี บาดเจ็บ หลังปะทะคารมปม “เคลื่อนย้ายผู้ป่วยล่าช้า” พร้อมขอประชาชนเข้าใจระเบียบ สพฉ.
จากกรณี นายริน (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี โวยรถกู้ภัยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บไปโรงพยาบาลล่าช้า จนเกิดปะทะคารมกับพนักงานประจำรถกู้ภัยรุ่นลูก ก่อนจะถูกพนักงานกู้ภัยรายดังกล่าวขี่รถจักรยานยนต์ ย้อนกลับมาทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่ นายเอกรัฐ (นามสมมุติ) อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาลของมูลนิธิแห่งหนึ่ง ฝ่ายผู้ก่อเหตุ ออกมายอมรับว่าขาดสติ อ้างว่าฝ่ายคู่กรณีอยู่ในอาการมึนเมา และใช้ถ้อยคำหยาบคาย ขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่มีข่าวเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 21 ต.ค.67 นายประสิทธิ์ ทองทิตย์เจริญ ประธานหน่วยกู้ภัยของมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน เมืองพัทยา เปิดเผยว่า มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ เมืองพัทยา เป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่พนักงานรายนี้กลับมีความใจร้อน และประพฤติตรงกันข้ามกับระเบียบของมูลนิธิฯ ฝ่ายบุคคลจึงได้ออกหนังสือ “พักงานแบบไม่มีกำหนด” ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากพนักงานรายนี้มีการกระทำผิดกฎระเบียบร้ายแรงของทางมูลนิธิฯ พร้อมทั้งทางมูลนิธิฯ ต้องขอโทษฝ่ายคู่กรณีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าทางมูลนิธิฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมทั้งมีการกำชับพนักงาน รวมถึงอาสาสมัครกู้ภัย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากประชาชนยังไม่เข้าใจถึงระเบียบ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น โดยเข้าใจว่ากู้ภัยทำงานล่าช้า แต่ที่จริงแล้วหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ฯ เมืองพัทยา ทำงานภายใต้กฎระเบียบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งจะมีขีดความสามารถเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน
โดยรถพยาบาลของมูลนิธิ หรือรถอาสาสมัครกู้ภัย สามารถเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย ได้เพียง 2 กลุ่ม คือกลุ่มสีเขียว บาดเจ็บเล็กน้อย และและกลุ่มสีเหลือง บาดเจ็บปานกลาง ส่วนกลุ่มสีแดง กลุ่มผู้ป่วยผู้บาดเจ็บที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต จะต้องประสานศูนย์สั่งการเพื่อประสานรถโรงพยาบาล ของแต่ละโรงพยาบาล ออกมารับผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยเท่านั้น
ซึ่งโรงพยาบาลจะมีขีดความสามารถค่อนข้างพร้อม ทั้งระบบการดูแลด้านการหายใจ หรือเรื่องการรักษาในเบื้องต้น ดังนั้นระหว่างที่รอรถพยาบาลมารับ ทีมกู้ภัย-กู้ชีพ จะทำหน้าที่ปฐมพยาบาล เพื่อรอรถพยาบาลมารับ จึงอาจทำให้เกิดความล่าช้า จนทำให้ประชาชนรวมถึงญาติพี่น้อง เข้าใจว่ากู้ภัยทำงานล่าช้า แต่ที่จริงแล้ว ทีมกู้ภัยจะต้องปฏิบัติ ตามกฎระเบียบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) อย่างเคร่งครัด จึงอยากอธิบายและวอนขอให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้
ด้านนายไพโรจน์ ประวัติเลิศอุดม ประธาน กต.ตร.สภ.บางละมุง พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมและมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับ นายริน (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี คู่กรณีที่ถูกทำร้าย โดยเจ้าตัวยังคงยืนยันว่า เกิดเหตุ ยอมรับว่ามีการปะทะคารมกับกู้ภัยจริง เพราะตนเองไม่เข้าใจในเรื่องของระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แต่พอเข้าไปถาม กลับถูกต่อว่าสวนกลับด้วยคำที่ค่อนข้างจะรุนแรงจนบานปลาย จนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งอยากให้ทาง มูลนิธิฯ ออกมาชี้แจงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนเรื่องของคดีก็ว่าไปตามกระบวนการของกฎหมาย.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ