หัวข้อ “กะเพรา” ใน “พฤกษนิยาย” (รวมสาส์นพิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2543) ส.พลายน้อย เริ่มต้นว่า พอถึงวันขึ้นปีใหม่ “วันใจตระ” เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ชาวฮินดูในอินเดีย จะกระทำพิธีบูชาปฏิทินสำหรับปีใหม่
สิ่งสำคัญในวันนี้ พวกเขาจะเอาใบกะเพรามาบริโภค เพื่อให้เกิดสิริมงคลคุ้มภัยต่างๆ
ชาวฮินดูนับถือต้นกะเพรา เสมอด้วยเทพเจ้าองค์หนึ่ง ใครจะไปทำลบหลู่ดูถูกต้นกะเพราของเขาไม่ได้
เฉพาะชาวไวศณพนิกาย เชื่อกันแน่นแฟ้นถ้าเอากิ่งกะเพราชุบน้ำหญ้าฝรั่นพรมพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า จะได้รับส่วนแบ่งความสุขจากพระองค์มาด้วย
ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (เดือนกฤติกา) ถ้าได้เอาหญ้าฝรั่นไปพรมพระนารายณ์ ก็จะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยยิ่งถวายโคพันตัว
วันสำคัญที่ว่า นอกจากชาวฮินดูจะทำพิธีสดุดีต้นกะเพรา ยังถือกันเป็นวันพิธีแต่งงานของพระกฤษณะกับนางตุลสิ ชาวฮินดูวรรณะสูงๆจะถือโอกาสแต่งงานมากกว่าวันสำคัญอื่นๆ
อาจารย์ ส.พลายน้อย ขยันค้นหนังสืออ่าน จนพบว่า พิธีแต่งงานของชาวอัสสัมที่ถือลัทธิฮินดู เจ้าสาวจะสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยใบกะเพรา เรื่องเล่าความศักดิ์สิทธิ์ใบกะเพรายังมีอีกมากมายหลายเรื่อง
เรื่องหนึ่ง… ครั้งหนึ่งพระนารทฤาษี ไปหานางสัตยภามา มเหสีพระกฤษณะ นางถามพระนารทว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะได้เป็นมเหสีของพระกฤษณะทุกๆชาติ “ใครปรารถนาอย่างไร ก็ต้องเสียสละสิ่งนั้นให้แก่พราหมณ์”
โวหารพระนารท นางสัตยภามาตีความเมื่อนางปรารถนาพระกฤษณะ ก็ต้องยกพระกฤษณะให้ นางจึงตกลงใจจะยกพระกฤษณะให้พระนารท
แต่เรื่องไม่ง่าย พระนารทขยับตัวจะรับพระกฤษณะ มวลหมู่มหาชายาพระกฤษณะ 16,108 องค์ ก็มาชุมนุมกันต่อว่าต่อขาน พระมเหสีมีสิทธิ์อันใด ที่จะยกพระสวามีกลางพระกฤษณะไปให้ใครคนเดียว
เจอเข้าไม้นี้ นางสัตยภามาก็จำต้องขอพระกฤษณะคืน แต่พระนารทไม่ยอม อ้างให้แล้วจะเอาคืนได้อย่างไร
แล้วพระนารทฤาษี ก็ใช้ลีลาถนัดที่สามโลกรู้ๆกัน คือไปที่ไหนก็ป่วนไปได้ทุกเรื่อง ยื่นเงื่อนไข
ถ้าอยากได้พระกฤษณะคืน ก็ต้องสละเพชรนิลจินดาน้ำหนักเท่าองค์พระกฤษณะมาไถ่องค์เอาไป
สถานการณ์นี้เป็นที่มาของคำโบราณ เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร มเหสีและชายาพระกฤษณะก็ตัดใจ ถอดเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ประดับองค์ใส่ถาดข้างหนึ่ง โดยมีพระกฤษณะประทับอยู่ในถาดอีกข้างหนึ่ง
จะว่าไป งานนี้ พระกฤษณะเป็นเจ้าว่าง่ายสอนง่าย ตามนิสัยพระสวามีของประชาชน
แต่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ ไม่ว่าเหล่าชายาจะเพิ่มจำนวนเพชรทองใส่ถาดไปเท่าไหร่ ก็ไม่มากพอที่ทำให้ถาดที่ใส่พระกฤษณะเขยื้อน
พระฤาษีตัวดีรู้เชิงกระซิบเหล่าชายาให้ไปหานางรุกขมินีมเหสีเอกพระกฤษณะ (อ้าว! ไม่รู้มาก่อนก็ต้องรู้คราวนี้ นางสัตยภามาเป็นแค่มเหสีรอง) นางรุกขมินี ออกตัวไม่มีเพชรนิลจินดาจะช่วย
แต่จะขอช่วยด้วยการไปขอให้นางตุลสิช่วยอีกที เหตุเพราะในหลายมเหสี “นางตุลสิ คือมเหสีที่แท้จริง”
ว่าแล้วนางรุกขมินีก็เริ่มพิธีบูชาไม้ตุลสิ (คือไม้กะเพรา) ไม่ช้าต้นตุลสิก็ร่วงลงมาใบหนึ่ง
นางรุกขมินี เก็บใบกะเพราใบนั้นไปใส่ถาด ทันทีนั้นถาดที่พระกฤษณะนั่งก็ลอยสูงขึ้น
เป็นอันว่า บรรดาพระมเหสีและเหล่าชายา ก็ได้พระกฤษณะคืนมาแบ่งโควตากันเป็นพระสวามีต่อไป ด้วยประการฉะนี้ และเรื่องมหาพลานุภาพของกะเพราก็จบลงตรงนี้
วันนี้ เป็นเรื่องสงครามผัวๆเมียๆบนสวรรค์ ไม่ขอเกี่ยวสงครามการเมืองแบบพรรคเมียน้อยเมียหลวงสักวัน คงไม่ว่ากัน.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ