“กอล์ฟ นิติพัฒน์” มองเรื่อง “มาตรฐาน” เป็นความท้าทายในการประกวด “เหล้าขาว” แนะรัฐสนับสนุนงานวิจัย เพื่อสร้างสตอรี่เหล้าไทย ผลักดันสู่ตลาดโลก
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ “ไทยรัฐ” ผนึกกำลังกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน จัดงาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศครั้งแรก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระจายรายได้สู่คนตัวเล็ก เพื่อยกระดับความคราฟต์ของชุมชน ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2567
ทั้งนี้ในวงเสวนา “การประกวดสุดยอดเหล้าขาวครั้งแรกของโลก สร้างมาตรฐาน Flavor wheel” ในประเด็นที่ว่า เมื่อเบียร์ ไวน์ บรั่นดี สุรา ล้วนมีการประกวดจริงๆ แต่ทำไม “เหล้าขาว” สุราชุมชนของไทย ถึงไปถึงระดับนั้นไม่ได้ โดยเป็นการพูดคุยกับ คุณกอล์ฟ นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ กรรมการบริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
เมื่อถามว่า ทำไม “เหล้าขาว” ถึงยังไม่ก้าวไปอยู่ในเวทีโลกได้ คุณกอล์ฟ นิติพัฒน์ มองว่า เหตุผลแรกคงเป็นเพราะในต่างประเทศไม่มีใครกิน มีแต่ไทยเท่านั้นที่กิน อีกอย่างคือ ที่ผ่านมาเรายังไม่มีพลังมากพอที่จะผลักดันในเรื่องนี้ และการประกวดในไทยยังไม่มีเซนเตอร์ แต่ใช้มาตรฐานของกลุ่มต่างๆ ที่จัดงาน มาตัดสินเท่านั้น
ซึ่งถ้าอยากให้ “เหล้าขาว” โตในระดับโลกได้นั้น เราอาจต้องเพิ่มความพิถีพิถันในมาตรฐานของรสชาติ เพราะมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย เรามีของ มอก. หรือสรรพสามิต รับรองอยู่แล้ว พร้อมเสนอว่าต้องนำแนวทางของตลาดนานาชาติมาปรับใช้ เนื่องจากว่าถ้าเรายึดโยงหลักของสากลแล้วนำมาปรับใช้ในไทย เชื่อว่าตลาดนานาชาติน่าจะยอมรับได้ ที่ยากคือ ผู้ประกอบการของเราเองจะยอมรับได้หรือไม่ หลายคนอาจจะมองว่า ก็เคยทำมาแบบนี้ ทำไมจะต้องเปลี่ยน แต่เราต้องปรับสมดุลให้ได้
เมื่อถามถึงความท้าทายในการจัดประกวด “เหล้าขาว” คุณกอล์ฟ นิติพัฒน์ บอกว่า คงเป็นเรื่องที่เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนมีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมนี้ อย่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ภาครัฐ ฯลฯ นั้นได้ประโยชน์ ซึ่งในการจัดประกวดเบียร์นั้น ค่อนข้างจะง่ายกว่า เนื่องจากมีหนังสือ หรือคู่มือ ที่บอกได้เลยว่า เบียร์แต่ละสไตล์ต้องเป็นอย่างไร ดังนั้นคนที่ส่งเบียร์เข้ามาประกวด จะต้องวัดกันที่ฝีมือ แต่สำหรับเหล้าขาวไทย ไม่มีตำรา ไม่มีคู่มือ หรือเกณฑ์การวัดมาก่อน วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กำหนดว่า “สไตล์” ของไทยเป็นอย่างไร กว่ามันจะเป็นที่ยอมรับได้ของผู้ผลิต หรือผู้บริโภค มันอาจจะต้องใช้เวลา แต่เราต้องเริ่ม
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า เกณฑ์ในการกำหนดคุณภาพ หรือมาตรฐานของ “เหล้าขาว” นั้น นอกจากหลักของตัวเหล้าเอง อย่าง สี กลิ่น รส และอาฟเตอร์เทสต์แล้ว กรรมการแต่ละคนต้องใช้ “ลิ้นเทพ” ในการเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในการประกวดครั้งนี้ เพื่อความแฟร์เราจะแบ่งประเภทของสุราไทย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณแอลกอฮอล์เปอร์เซ็นต์ วิธีการกลั่นว่าเป็นแบบดั้งเดิม หรือใช้เครื่องกลั่นแบบสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งที่ได้จะต่างกันในเรื่องของความประณีต และความสะอาด ดังนั้นจะเอามาเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น เกณฑ์และข้อกำหนดเราจะระวังที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ยุติธรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีรสชาติที่ดี
นอกจากการใช้ “Blind Test” ในการตัดสิน “เหล้าขาว” ในวันนี้แล้ว เพื่อให้เกิดการยอมรับจากผู้ประกอบการ เราต้องมีฟีดแบ็กให้เห็นชัดเจนว่า ที่เขาได้คะแนนแค่นี้เป็นเพราะอะไร การตัดสินของเราในรอบนี้จะเป็นการให้เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ดังนั้นก็อาจจะมีคนได้เหรียญทอง 2 แบรนด์ก็ได้ ซึ่งเป็นการการันตีในเรื่องมิติของศิลปะรสชาติ เพราะในเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัยนั้น สามารถดูได้จากสลากอยู่แล้ว และหากได้รางวัลจากงานนี้ไปก็สามารถนำไปต่อยอดในการเพิ่มยอดขายได้ และสิ่งต่อไปเราต้องสร้างการรับรู้ไปตามชุมชนจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เข้ามาสร้างมาตรฐานไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กลุ่มคนที่บริโภคเหล้าขาวนั้น เป็นกลุ่มที่อยู่ตามต่างจังหวัดแต่เราอยากให้ตลาดเปิดกว้างกว่านั้น โดยเฉพาะตลาดส่งออก ซึ่งเราไม่เห็นว่า “เหล้าขาว” มีตัวเลขการส่งออกเท่าไร มีแต่ตัวเลขการส่งออก “สุราไทย” เท่านั้น แม้ตัวเองจะเห็นว่า มีเหล้าขาวบางยี่ห้อไปวางขายในดิวตี้ฟรี สนามบิน แต่ในฐานะนักท่องเที่ยว คงตั้งคำถามว่า เหล้านี้คืออะไร เพราะไม่มีคำบรรยายเขียนไว้ ดังนั้น เราคงต้องสร้างการรับรู้ในส่วนนี้ด้วย
เราเชื่อว่า ถ้าขาดการช่วยเหลือจากรัฐบาล “เหล้าขาว” คงจะไปถึงระดับโลกได้ยาก จึงอยากฝากถึงภาครัฐ ในการสนับสนุนการวิจัย งานวิชาการเกี่ยวกับเหล้าไทยเอาไว้ อาทิ “ถังไม้” ที่นำมาใช้ในการบ่ม “ลูกแป้ง” ที่นำมาใช้ในการหมัก ถ้าภาครัฐช่วยสนับสนุน หรือตั้งทีมวิจัยในเรื่องนี้ได้ ก็จะทำให้สตอรี่ของ “เหล้าไทย” ถูกสื่อสารออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการอ้างอิงวิทยาศาสตร์ และสร้างมูลค่าในตลาดต่างประเทศได้
สุดท้ายนี้ คุณกอล์ฟ นิติพัฒน์ ยังฝากด้วยว่า อยากให้ผู้บริโภคช่วยกันสนับสนุน และประชาสัมพันธ์ “สุราไทย” เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ผลิตว่า สิ่งที่ทำมานั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตได้
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ