นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการร้องเรียนบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เกี่ยวกับการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อ “เคธี่ปันสุข” ที่ให้ผลตอบแทนสูงมีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่าบริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน โดยระบุว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช.ได้ขอให้เคโฟร์ยุติการขายหรือแจกซิมมือถือก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ธุรกิจของเคโฟร์ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.มีเพียงอย่างเดียวคือธุรกิจซิมการ์ด K4 ที่เป็นผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 ได้รับอนุญาต เมื่อปี 2562 เพื่อให้บริการขายเบอร์มือถือในฐานะผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายหรือ MVNO ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเคโฟร์เช่าใช้โครงข่ายของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยได้รับการจัดสรรเลขหมาย 331,000 เลขหมาย มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย มีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท สอดคล้องกับที่เคโฟร์แจ้งสำนักงาน กสทช.ว่ามีรายได้ที่ประมาณปีละ 5 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ปีละ 7,000 บาท อย่างไรก็ตาม กสทช.เข้าใจว่าเคโฟร์ใช้ความเป็นผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.สร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ โดยสำนักงาน กสทช.กำลังพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง

นายไตรรัตน์กล่าวว่า สิ่งที่ผิดปกติคือเคโฟร์ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 5 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ภายใน 2 ปี โดยมีการชักชวนประชาชนให้ลงทุนในธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเสนอผลตอบแทนระดับสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคต โดยขณะที่ธุรกิจเครือข่ายขายตรงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

“จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของเคโฟร์ พบว่าศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล็อกประตูเข้า-ออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทร.สอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่ ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธปท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหาย”.