“กลุ่มพนักงานบริการ” บุกทำเนียบฯ ทวง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ หลังถูกดองนาน เผยปัญหา กลุ่มขายบริการออนไลน์ ถูกล่อซื้อรีดส่วยหนัก แถมถูกกฎหมายตีตราค้าประเวณี
วันนี้ 2 ต.ค. 67 เครือข่ายองค์กรอิสระขับเคลื่อนเรื่อง “กลุ่มพนักงานบริการ” บุกทำเนียบฯ รอบ 3 ทวง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ หลังยื่นเรื่องมาแล้ว 3 รอบ ที่ผ่านมายังไม่มีการนำประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จากนี้ หากยังไม่มีความคืบหน้าจะดำเนินการทวงถามอีกครั้ง
“ทันตา เลาวิลาวัณยกุล” ผู้ประสานงานองค์กรมูลนิธิ Empower องค์กรที่ทำงานประเด็น “กลุ่มพนักงานบริการ” มองว่า วันนี้ได้ไปยื่นทวงถามเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ กับนายกฯ เพราะร่างนี้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2566 แต่ไม่ได้มีการนำเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหยุดอยู่กับที่มานาน เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องบางรายห่วงใย เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวทางสังคม เลยขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอีกรอบ แต่ก็แล้วเสร็จประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ล่วงเลยมานาน จนต้องมาทวงถามในรอบที่ 3
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ จะคุ้มครอง และยกเลิก พ.ร.บ.การค้าประเวณีปี 2539 และใช้กฎหมายนี้มาคุ้มครองคนที่ทำงานด้านบริการแทน ทำให้ผู้ทำงานบริการเข้าสู่การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน เพราะมีมาตราที่บังคับให้สถานบริการต้องขึ้นทะเบียนให้พนักงานในร้าน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนประกันสังคม แต่ไม่ใช่การจดทะเบียน Sex Worker
“พ.ร.บ.นี้ เป็นเหมือนการขึ้นทะเบียนลูกจ้างของผู้ประกอบอาชีพนี้ หลังจากที่ผ่านมา เมื่อไม่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับส่วยและการรีดไถ เมื่อบังคับใช้จะทำให้กฎหมายการค้าประเวณี ที่เป็นกฎหมายอาญา ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ค้าบริการ พอถูกจับจะมีการบันทึกรายชื่อในฐานะผู้ที่ทำกระทำความผิดด้านอาญา เราถือว่ามีความร้ายแรงเทียบเท่าการก่อเหตุอาชญากรรม เหมือนเท่ากับว่าเราถูกจับแล้วถูกตีตราไปตลอดชีวิต”
ที่สำคัญเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ จะทำให้กลุ่มพนักงานบริการ สามารถขึ้นศาลแรงงานเมื่อเกิดข้อพิพาทเหมือนกับแรงงานทั่วไป สิ่งที่พวกเราพยายามเรียกร้องไม่ใช่เรื่องที่ต้องการให้มีมากกว่าคนอื่นในสังคม แต่สิ่งที่ร้องขอ เพียงให้พนักงานบริการมีสิทธิเท่ากับผู้อื่นในสังคม
การที่ต้องผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ เนื่องจากกฎหมายแรงงานยังไม่รองรับคนทำงานบริการ ต่างจากการขึ้นทะเบียน Sex Worker ที่เป็นการตีตราว่า เราเป็นโสเภณี เมื่อออกจากอาชีพค้าประเวณี ก็จะมีประวัติค้างไว้เหมือนเป็นตราบาปตลอดชีวิต
“การขึ้นทะเบียน พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ เป็นการขึ้นทะเบียนแรงงาน เหมือนกับคนที่ประกอบอาชีพอื่น เพียงแต่ว่าเราขึ้นทะเบียนแรงงานในภาคบริการ”
ถ้ามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ จะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชัน ในระบบราชการที่เกี่ยวข้องได้ เพราะผู้หญิงที่ทำงานบริการ 80% เป็นแม่คน ดังนั้น เมื่อมีระบบแรงงานมารองรับ เขาจะไม่ยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมาทำอาชีพค้าบริการ
“กลุ่มที่น่าห่วงในการทำอาชีพค้าบริการคือ กลุ่มที่ขายบริการออนไลน์ ตอนนี้มีการล่อซื้อจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่จริงและคนที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อถูกจับ นอกจากจะโดนกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีแล้ว ยังผิดกฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบกับค่าปรับค่อนข้างสูง”
การผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ ต่อจากนี้ มีการยื่นเรื่องถึงนายกฯ ผ่านพรรคเพื่อไทย ที่เดิมมีการหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งการพยายามผลักดันให้สำเร็จ เป็นทางออก ที่ช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพให้กับผู้ที่ทำอาชีพบริการได้
ที่ผ่านมา “ไทยรัฐกรุ๊ป” สะท้อนเรื่องราว “เซ็กซ์เวิร์กเกอร์” ผ่านภารกิจ See True “ให้คุณเห็นความจริง” ทางรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ ช่อง 32 และทุกช่องทางของสื่อในเครือ เพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านที่สุด.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ