“เทศกาลลอยกระทง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พ.ย. 2567 เทศกาลที่ชาวไทยจะนำกระทงลอยตามลำน้ำ ด้วยความเชื่อว่า เป็นการรำลึกถึงบุญคุณของแหล่งน้ำที่คนได้พึ่งพาอาศัย และขอขมาต่อพระแม่คงคา นับเป็นอีกประเพณีสำคัญที่ถูกจัดขึ้นต่อเนื่อง และจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นอีกหมุดหมายการท่องเที่ยว ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล
ขณะเดียวกัน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องมากขึ้นทุกปี ว่าเป็นการเพิ่มขยะจำนวนมหาศาลลงในแหล่งน้ำ ท่ามกลางปัญหามลภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และนำมาสู่การตั้งคำถามว่า “ลอยกระทง” แทนที่จะเป็นการขอขมา กลับทำร้ายแม่น้ำลำคลองมากขึ้นอีกหรือไม่?
โจทย์ที่ท้าทายของภาครัฐ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อรักษาสมดุลให้เทศกาลลอยกระทง สามารถดำเนินต่อไปได้โดยรักษาบริบททางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว และรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
จัดลอยกระทง 3 รูปแบบ
ล่าสุดวันที่ 11 พ.ย. 2567 “กรุงเทพมหานคร” นำโดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม.ได้จัดงานแถลงข่าว “เทศกาลลอยกระทง 2567 กรุงเทพมหานคร” ถึงแนวทางว่า กรุงเทพมหานคร จะทำอย่างไรเพื่อสืบสานประเพณีลอยกระทงต่อไป แต่ขยับเข้าใกล้ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายศานนท์ เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ กทม.จะจัดงานลอยกระทงใน 3 รูปแบบ คือ ลอยกระทงตามประเพณีปกติ ลอยกระทงออนไลน์ และลอยกระทงดิจิทัล
ในการลอยกระทงตามประเพณีนั้น ทาง กทม.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดขึ้นมากกว่า 140 จุดทั่วกรุงเทพฯ ทั้งบริเวณแม่น้ำ ลำคลอง สวนสาธารณะที่มีบึงน้ำ และตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ไปลอยกระทงใกล้บ้าน ลดการเดินทาง ลดมลภาวะ โดยคาดหวังด้วยว่าในอนาคตจะผลักดันเทศกาลลอยกระทงของไทยไปสู่ระดับโลก
“การลอยกระทงไม่ใช่เรื่องของประเพณีแค่ระดับเมือง และก็ไม่ใช่แค่ระดับประเทศแล้ว แต่ลอยกระทงจะมีการนำเสนอในระดับโลกด้วย ก็เคยมีการคุยกันว่า เราจะเสนอลอยกระทงเป็นหนึ่งในบัญชีของยูเนสโกได้หรือไม่ในปีต่อๆ ไป ซึ่งเราเคยทำสำเร็จมาแล้วกับสงกรานต์”
แม้การลอยกระทง เป็นเป็นเพณีที่สำคัญควรสืบสานต่อไป แต่ต้องมีการคำนึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย จากสถิติย้อนหลัง 7 ปี พบข้อมูลที่น่ายินดี คือกระทงที่ทำจากโฟมลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ที่ผ่านมา พบกระทงที่ทำจากโฟมจำนวน 20,877 ชิ้น หรือคิดเป็น 3.26% จากกระทงทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 4.3% และลดลงจากเมื่อปี 2560 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งสูงถึง 6.4% โดย กทม.ตั้งเป้าว่า อยากให้กระทงที่ไม่ใช่วัสดุธรรมชาติเป็นศูนย์ หรือเหลือให้น้อยที่สุด
“ปีนี้ทางท่านผู้ว่าฯ ก็ตั้งเป้าว่าขอให้กระทงโฟมเป็นศูนย์ได้ไหม ทางเราก็คิดว่าต้องรณรงค์เต็มที่ แต่ว่าภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ ก็ขอประชาสัมพันธ์ว่าเราอยากที่จะให้กระทงที่เป็นวัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ น้อยลงให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นศูนย์ได้ก็จะยิ่งดี”
จุดลอยกระทงตามประเพณีที่เป็นไฮไลต์ มีดังนี้
– กทม.ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน “สีสันแห่งสายน้ำ” ที่คลองผดุงกรุงเกษม วันที่ 13-16 พ.ย.ตั้งแต่ 16.00 น.เป็นต้นไป โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มาร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด
– กทม.ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน “ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ที่วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร วันที่ 15 พ.ย.ตั้งแต่ 16.30 น.เป็นต้นไป
– สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จัดงาน “เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567” ที่คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) วันที่ 15 พ.ย.เวลา 17.30-23.00 น.
– งานลอยกระทงในสวนสาธารณะ กทม. 34 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีบึงน้ำ เช่น สวนเบญจกิตติ สวนรถไฟ ในวันที่ 15 พ.ย.เวลา 05.00-24.00 น.
ลดขยะเป็น 0 ผ่าน ลอยกระทงออนไลน์ – ลอยกระทงดิจิทัล
ทางเลือกลอยกระทงแบบที่ 2 คือ “การลอยกระทงออนไลน์” ผ่านเว็บไซต์ greener.bangkok.go.th ซึ่งเป็นระบบเสมือนจริง ให้ประชาชนสามารถเลือกลอยกระทงได้ในสวนสาธารณะ 34 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15-17 พ.ย.ในเว็บไซต์จะมีเกมให้ประชาชนร่วมเก็บกระทง หวังสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และจะมีการนับคะแนนว่าเขตไหนในกรุงเทพฯ เก็บกระทงได้เยอะที่สุด ซึ่งทั้งการลอยกระทงและเก็บกระทงออนไลน์ ประชาชนผู้เข้าร่วมจะได้ลุ้นรับของรางวัลรักษ์โลกด้วย
รูปแบบสุดท้ายคือ “ลอยกระทงดิจิทัล” ที่ประชาชนสามารถระบายสีตกแต่งกระทงของตัวเอง ระบุชื่อและคำอธิษฐาน ฉายเป็นภาพกระทงแทนการลอยกระทงจริง ซึ่งวิธีนี้จะให้คนได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมนอกบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถลดขยะไปได้พร้อม ๆ กัน
ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา กทม.ได้ริเริ่มการลอยกระทงดิจิทัล ที่คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ และได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนทางสมาคมเทศกาลนานาชาติ (IFEA) ได้มอบรางวัลเทศกาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดประจำปีให้ และในปีนี้ กทม.ก็เดินหน้าสานต่อการลอยกระทงดิจิทัล และขยายเพิ่มเป็น 4 จุดด้วยกัน คือ
1. งานลอยกระทงดิจิทัล 2024
บริเวณ สกายวอล์ก 4 แยกปทุมวัน วันที่ 14-15 พ.ย. เวลา 18.00 – 23.00 น.
2. งาน โอ่งอ่าง Water & Colour Festival
ที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง วันที่ 13-15 พ.ย. เวลา 17.00 – 22.00 น. ไฮไลต์ที่สำคัญคือ จะมีการยิงภาพขึ้นตึกเป็น “กระทงลอยฟ้า” รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ทั้งร้านค้า เวิร์กช็อป การแสดง ปั่นจักรยานน้ำและพายเรือคายัค
3. งานรางน้ำ ลอยกระทงดิจิทัล
ที่ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี วันที่ 15 พ.ย. เวลา 17.00 – 21.00 น.
4. Aeon Digital Loy Krathong : Symphony of River
ที่ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.วันที่ 15 พ.ย. เวลา 17.00 – 23.30 น. ไฮไลต์ที่สำคัญคือ จะมีการยิงภาพขึ้นศาลาว่าการ กทม.มีร้านค้า และการประกวดหนูน้อยนพมาศ คอสเพลย์วันลอยกระทง
งดกระทงโฟม-ขนมปัง ลอย 1 คืนฟื้นฟู 4 เดือน
การลอยกระทงตามประเพณี ให้เป็นมิตรรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้ “กระทงวัสดุธรรมชาติ” งดกระทงที่ทำจากโฟมและกระทงขนมปัง เพราะกระทงจากโฟม ต้องใช้เวลายาวนานในการย่อยสลาย นำไปเผาก็เกิดควันมลพิษ นำไปฝังกลบก็ใช้เวลาชั่วลูกชั่วหลานกว่าจะย่อยสลาย
ส่วน “กระทงขนมปัง” รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา ที่ได้เกิดขึ้นในเทศกาลลอยกระทง 2566 ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี ซึ่งมีประชาชนมาลอยกระทงกว่า 14,000 คน เก็บกระทงได้กว่า 6,800 ใบ และมี “กระทงขนมปัง” ที่นับจำนวนไม่ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะมากเกินกว่าที่ปลาในบ่อจะกินหมด เมื่อกระทงขนมปังละลายกลายเป็นอาหารให้แบคทีเรียในน้ำ ก็ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ขนมปังที่เปื่อยยุ่ยยังกลายเป็นตะกอนรวมกับดินโคลนก้นบ่อ กระทบกับกลุ่มปลาที่ซุกตัวในดิน เช่น ปลาดุก ปลาช่อนด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือปลาในบ่อแห่งนี้ลอยตายเกลื่อนหลายร้อยตัว
ทางเจ้าหน้าที่ต้องนำปลาที่ตายออก ย้ายปลาที่ยังรอดไปอยู่บ่ออื่น ระบายน้ำเน่าเสีย ดูดดินเลน จากนั้นต้องปรับสมดุลระบบนิเวศของบ่อน้ำใหม่ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 4 เดือน จึงขอให้ประชาชนงดลอย “กระทงขนมปัง” เพื่อป้องกันปัญหานี้
ในส่วนของ “กระทงวัสดุธรรมชาติ” ขอให้งดใช้ตะปู เข็มหมุด ลวดเย็บกระดาษ ไปใช้ไม้กลัดแทน เพราะกระทงเหล่านี้จะนำไปทำเป็นปุ๋ยและนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ใส่ต้นไม้ในสวนสาธารณะ นำไปปลูกพืชผักสวนครัว และแจกจ่ายประชาชน ซึ่งอาจทำให้มีการปนเปื้อนของโลหะหนักกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของเราได้
นอกจากนี้ ยากให้ครอบครัว คู่รัก และเพื่อนฝูงที่มาด้วยกันใช้กระทงใบเดียวกัน เพื่อลดจำนวนกระทงให้ได้มากที่สุด และขอความร่วมมือพ่อค้าแม่ค้างดจำหน่ายกระทงที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
“สิ่งแวดล้อมเป็นของพวกเราทุกคน ขอความร่วมมือผู้ค้าผู้ขายหันมาจำหน่ายเป็นกระทงวัสดุธรรมชาติกันดีกว่า เพื่อให้จัดเก็บได้ง่าย และประชาชนก็ได้เลือกซื้อของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธูปเทียนที่ใช้ก็ขอให้ใช้อันเล็กๆ เพื่อที่อย่างน้อย จะได้ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ด้วย”
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ