ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครว่า จากการประชุมสภา กทม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวนกว่า 14,549,503,800 ล้านบาท โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 24 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 10 วันทำการ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนั้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนร่วมกัน มีการขอคำปรึกษาจากหลายฝ่าย ไม่ได้กระโดดข้ามขั้นตอน หรือเร่งรัด เพราะกังวลเรื่องดอกเบี้ยค่าปรับแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีเงินสะสมประมาณ 50,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการใช้หนี้ เมื่อคณะกรรมการวิสามัญฯพิจารณาผ่านวาระ 1 ไปแล้ว จะพิจารณารายละเอียดในวาระ 2 และ 3 ต่อไป คาดว่าจะสามารถอนุมัติชำระหนี้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าที่คำพิพากษาระบุว่า จะต้องชำระหนี้ก่อน 180 วัน คือ วันที่ 21 ม.ค. 2568 ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้กลัวเรื่องค่าปรับ ที่ทำทุกอย่างได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบที่สุด เพราะหน้าที่เรา คือการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด และเชื่อว่าถ้ามีการชำระหนี้ได้ภายในปีนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระตุ้นจีดีพี จากการที่เอกชนได้นำเงินไปดำเนินธุรกิจต่อ
“ขณะนี้มีความชัดเจนหลายอย่าง ที่มีความกังวลว่า ป.ป.ช. ชี้มูลแล้ว ต่อไปเกิดไปฟ้องศาลแล้วเห็นว่าผิด กทม.จะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็ดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีการพิจารณาประเด็นนี้อยู่แล้ว มีคำสั่งให้จ่ายเงินไปแล้ว เราไม่ต้องคิดเรื่องนี้แทนท่าน ท่านมีความเชี่ยวชาญมากกว่าเรา จนถึงวันนี้ทุกอย่างตกผลึกแล้ว ผู้บริหารก็คิดว่าจ่ายได้ เราก็มีความมั่นใจ ก็จะต้องเดินหน้าต่อไป” นายชัชชาติกล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ส่วนที่เหลือหลังจากนี้ในอนาคตมีสิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อ มียอดมูลค่าหนี้อีก 3 ส่วน คือ 1.ยอดหนี้ที่บีทีเอสได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ให้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับบีทีเอสของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเงินจำนวนกว่า 11,811 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 2.ยอดหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 ที่ยังค้างชำระ เป็นเงินจำนวนกว่า 13,513 ล้านบาท และ 3.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสิ้นสุดสัมปทาน ปี พ.ศ.2585 ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทั้งหมดต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อฟ้องร้องหรือเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก.
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ