กองปราบฯคุมตัว “นุ-สา” สองผัวเมียคนสนิททนายตั้ม โกงเงิน “เจ๊อ้อย” 39 ล้านบาท ส่งฝากขังศาลอาญาผัดแรก ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไม่ประกันตัวส่งเข้าเรือนจำ ในสำนวนมีชื่อทนายตั้มร่วมขบวนการด้วย อยู่ระหว่างประสานเรือนจำเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม “ทนายตั้ม” ยังงานเข้าไม่เลิก กกต.สมุทรสาครเข้าสอบปากคำถึงในเรือนจำ ประเด็นถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติสมัคร สว.ครั้งที่ผ่านมา จนมีชื่อเป็นตัวสำรองอันดับ 4 ถ้าไม่มีคุณสมบัติในกลุ่มอาชีพการทำงานภาคประชาสังคมครบ 10 ปีจริง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
กรณี น.ส.จตุพร หรือเจ๊อ้อย อุบลเลิศ เศรษฐินีชาวไทยอาศัยอยู่ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส มอบอำนาจทนายความแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ดำเนินคดีนายษิทรา หรือทนายตั้ม เบี้ยบังเกิด อายุ 44 ปี ข้อหาฉ้อโกง หลอกให้ลงทุนซื้อแพลตฟอร์มหวยออนไลน์เป็นเงิน 71 ล้านบาท หลังรวบรวมหลักฐานออกหมายจับทนายตั้ม และนางปทิตตา เบี้ยบังเกิด อายุ 41 ปี ภรรยา ข้อหาฉ้อโกงและฟอกเงิน นำฝากขังเข้าเรือนจำไปแล้ว นอกจากนี้ยังบานปลายมีคดีที่เกี่ยวข้องอีก ตำรวจออกหมายจับนายนุวัฒน์ หรือนุ ยงยุทธ อายุ 34 ปี คนสนิททนายตั้ม และ น.ส.สารินี หรือสา นุชนารถ อายุ 30 ปี แฟนสาว กรณีหลอกลวงเงินเจ๊อ้อย 39 ล้านบาท ควบคุมตัวมาสอบสวน แต่ทั้ง 2 คน ยังให้การปฏิเสธตามที่เสนอข่าวแล้วนั้น
ความคืบหน้าจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 พ.ย. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. เผยกรณีตำรวจกองปราบปรามจับนายนุวัฒน์ ยงยุทธ และ น.ส.สารินี นุชนารถ ว่า จากการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลกรณีเงิน 39 ล้านบาท ของ น.ส.จตุพร หรือเจ๊อ้อย อุบลเลิศ พบว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดทั้งสิ้น 3 คน คือ ผู้ต้องหาทั้ง 2 รายนี้ และอีกคนคือนายษิทรา เบี้ยบังเกิด มีหลักฐานข้อมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนการแจ้งข้อหาทนายตั้มที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้ เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือถึงเรือนจำเพื่อขอนัดเข้าไปสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้ทนายตั้มทราบ หลังจากนี้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจะตรวจสอบข้อมูลหลักฐานต่างๆ ถ้าพบว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องอีก เจ้าหน้าที่พร้อมจับกุมเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีต่อไป
ต่อมาเวลา 10.45 น.วันเดียวกัน พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. สั่งการให้พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. เบิกตัวนายนุวัฒน์ หรือนุ ยงยุทธ อายุ 34 ปี คนสนิททนายตั้ม และ น.ส.สารินี นุชนารถ อายุ 32 ปี แฟนสาว สองผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และร่วมกันฟอกเงิน คดีร่วมกันฉ้อโกงเงิน 39 ล้านบาท ของ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือเจ๊อ้อย ออกจากห้องคุมขังกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อนำตัวส่งศาลอาญาฝากขังผัดแรก ระหว่างคุมตัวทั้งสองเดินออกจากห้องคุมขังมาขึ้นรถตู้ที่จอดอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร ทั้งสองอยู่ในสภาพอิดโรยจากความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด หลังถูกเจ้าหน้าที่เค้นสอบปากคำตลอดทั้งคืน ทั้งนี้ ขณะนายนุวัฒน์เดินออกไปขึ้นรถตู้ยกมือไหว้ตลอดทางจนขึ้นรถตู้ไป
ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามผู้ต้องหาทั้งสองว่า รู้จักกับทนายตั้มเป็นการส่วนตัวหรือไม่ แต่ทั้งคู่เลี่ยงที่จะตอบคำถาม ก่อนจะเดินก้มหน้าขึ้นรถตู้ตำรวจออกไปศาลอาญาเพื่อส่งตัวฝากขังตามขั้นตอนทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสอบปากคำนายนุวัฒน์และ น.ส.สารินี ไม่ได้ให้การเป็นประโยชน์ ส่วนเงิน 39 ล้านบาทที่เบิกไปจากธนาคาร ผู้ต้องหาอ้างว่า นำไปซื้อเงินสกุลบิทคอยน์แล้ว นัดหมายซื้อขายกับผู้ขายเงินสกุลบิทคอยน์กันที่รีสอร์ตในเมืองพัทยา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ถามถึงใบเสร็จหรือยอดเงินบิทคอยน์กลับไม่สามารถนำหลักฐานใดๆมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูได้ พร้อมทั้งยังไม่ให้การซัดทอดถึงผู้ใดด้วย
ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.45 น. พ.ต.ท.ธีรพจน์ คงหนู พนักงานสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำตัวนายนุวัฒน์ ยงยุทธ อายุ 34 ปี และ น.ส.สารินี นุชนารถ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาที่ 1-2 คนสนิทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม มาฝากขังศาลครั้งแรก ข้อหากระทำผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน พฤติการณ์แห่งคดีคือ ก่อนเกิดเหตุ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ ผู้เสียหาย ว่าจ้างนายษิทรา เบี้ยบังเกิดให้เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ต่อมานายษิทราหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อส่งมอบเงินให้กับผู้ต้องหาที่ 1 หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ
พฤติกรรมคดีนี้ นายษิทรา นายนุวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 1 และ น.ส.สารินี ผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีนี้ ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ผู้ต้องหาที่ 1 มีกระเป๋าเงินดิจิทัลสามารถโอนสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ได้ ผู้เสียหายจึงให้ผู้ต้องหาที่ 1 โอนสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ให้กับผู้ใช้อินสตาแกรมชื่อบัญชีเฉินคุณ จากนั้นหลอกลวงผู้เสียหายว่า ผู้ต้องหาที่ 1 ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 โอนเงินไปยังบุคคลดังกล่าว ทำให้กระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 ถูกระงับการใช้งาน ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 39,000,000 บาท
นอกจากนี้ยังร่วมกันส่งภาพถ่ายสำเนาบันทึกประจำวันแจ้ง กรณีถูกอายัดเงินไปให้ผู้เสียหายดูทางแอปพลิเคชันไลน์ ด้วยทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 2 ถูกระงับจริง ทั้งที่ความจริงแล้วกระเป๋าเงินสกุลดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ 1-2 ไม่ได้ถูกระงับการใช้งาน ผู้เสียหายจึงส่งมอบเงินให้ผู้ต้องหาด้วยการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงิน 39,000,000 บาทให้กับผู้ต้องหาที่ 2 แล้วผู้ต้องหาที่ 1-2 ร่วมกันนำแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 2 จากนั้นนายษิทรา ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ร่วมกันเบิกถอนเงินสดจำนวน 39,000,000 บาทดังกล่าว ออกจากบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาที่ 2
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกัน ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 341 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) 2560 พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 มาตรา 3 (18) มาตรา 5 มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 60 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) 2556 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
ชั้นจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานอีก 10 ปาก รอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษ ขออนุญาตฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-24 พ.ย.2567
ท้ายคำร้องฝากขัง พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีผู้ต้องหาที่ 1-2 ถูกกล่าวหาคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 10 ปี และได้ทรัพย์สินผู้เสียหายไปจำนวนมากถึง 39,000,000 บาท เป็นมูลค่าความเสียหายที่สูงมาก หากผู้ต้องหาทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี อีกทั้งจากการสืบสวนทราบว่า ก่อนที่ผู้ต้องหา 1-2 จะถูกจับกุมมีการเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ทั้ง 2 คน เจตนาเพื่อให้ยากต่อการติดตามตัว และเป็นการทำลายหลักฐานการติดต่อระหว่างกัน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี รวมทั้งข้อมูลหลักฐานอื่นๆ ซึ่งมีพยานหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์มือถือดังกล่าว ถือเป็นพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานด้วย ประกอบกับผู้เสียหายมายื่นขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษจำคุกและมูลค่าความเสียหายสูงเกรงจะหลบหนี ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและสอบผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน อนุญาตให้ฝากขังได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ไม่ปรากฏว่ามีญาติหรือทนายความมายื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายนุวัฒน์ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วน น.ส.สารินี ส่งควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป
ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายนิติพัฒน์ ชูกล้ากสิกรณ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวนและสืบสวน กกต.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เดินทางเข้าสอบสวนนายษิทรา หรือทนายตั้ม เบี้ยบังเกิด ภายในเรือนจำกรณีขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปมทำงานภาคประชาสังคมไม่ถึง 10 ปีหลังมีผู้ร้องเรียน
นายนิติพัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ร้องตรวจสอบทนายตั้มเกี่ยวกับคุณสมบัติการลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จังหวัดสมุทรสาคร เดินทางมาสอบปากคำเพื่อให้ทนายตั้มชี้แจงการลงสมัคร สว.ครั้งที่ผ่านมาว่า มีคุณสมบัติในกลุ่มอาชีพการทำงานภาคประชาสังคมครบ 10 ปี ตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ส่วนการยื่นสมัครครั้งแรก กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วหรือไม่ เบื้องต้นเป็นอำนาจการตรวจสอบของ ผอ.เลือกตั้งที่รับสมัคร แต่เมื่อมีผู้ร้องคัดค้าน จำเป็นต้องตรวจสอบประเด็นหลักคือ คุณสมบัติ หากพบว่าไม่ได้ทำงานภาคประชาสังคมครบ 10 ปี อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 74 ที่กำหนดว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใดได้สมัครรับเลือก ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000- 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
“มีผู้ร้องคัดค้านมา 2 สัปดาห์แล้ว กกต.สมุทรสาครรับมอบหมายเดินทางมาสอบปากคำ เนื่องจากต้องทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จากนั้นต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งรายงานให้ กกต.ส่วนกลางวินิจฉัย มีกรอบการสอบสวน 50 วัน พนักงานสอบสวน กกต.ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ขยายเวลาถึงวันที่ 25 พ.ย. ติดตามผู้ถูกร้องมาตลอด กระทั่งทราบจากสื่อว่า ทนายตั้มถูกคุมขังในเรือนจำจึงประสานเข้ามาสอบปากคำ ส่วนทนายตั้มถูกจับคดีอาญาจะมีการถอดถอนจากอันดับ สว.สำรองอันดับ 4 หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องด้วย แต่ถ้าขาดคุณสมบัติอาจต้องดำเนินคดี และสามารถส่งหลักฐานภายหลังได้ ช่วงที่ผ่านมายังไม่เคยคุยกับทนายตั้ม เพียงแต่เจ้าตัวอ้างว่าจะขอเลื่อนการชี้แจงเป็นวันที่ 27 พ.ย.เลยกำหนดระยะเวลา” นายนิติพัฒน์กล่าว
แหล่งข่าว: ไทยรัฐ